เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ไม่มีประชาชนมาขอคืนเกือบ 1.7 พันล้าน

“นพพล เบี้ยวไข่มุข” ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตคนใหม่ เตือนประชาชนอย่าทิ้งสิทธิรับเงินคืน “กรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ” พบสิ้น มี.ค.65 เหลือเงินในระบบ 1,669 ล้านบาท กว่า 1.16 ล้านกรมธรรม์ ชูนโยบาย 4S พร้อมนำเทคโนโลยีตรวจสอบสิทธิ-ขอรับสิทธิ-รับผลประโยชน์ผ่านออนไลน์-โอนเงินไร้เงินสด

วันที่ 29 เมษายน 2565 นายนพพล เบี้ยวไข่มุข ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต(กปช.) คนใหม่ ต่อจากนายจรัญ สอนสวัสดิ์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ (เกินกว่า 10 ปีนับจากวันที่มีสิทธิรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์) ที่ทุกบริษัทประกันชีวิตนำส่งเข้ากองทุนประกันชีวิต ณ วันที่ 31 มี.ค 2565 เป็นเงินจำนวน 1,669 ล้านบาท ด้วยจำนวน 1.16 ล้านกรมธรรม์

โดยกองทุนฯ ได้จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินไปแล้ว จำนวน 8,582 กรมธรรม์หรือเพียง 0.74% ของจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด ด้วยจำนวนเงินจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 48 ล้านบาท คิดเป็น 2.60% ของจำนวนเงินทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากประชาชนผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ไม่ทราบ หรือหลงลืมสิทธิประโยชน์ของตน

ดังนั้น กองทุนฯ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงถือเป็นภารกิจหลักสำคัญที่จะมุ่งมั่นเร่งรัดดูแลสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ดังกล่าวนี้ ให้ประชาชนตระหนักรู้ในสิทธิประโยชน์ของตนทั้งก่อนและหลังกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ

ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ต่อยอดสร้างเครือข่าย และประสานขอความร่วมมือกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน (THAIFA) สมาคมนายหน้า ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระที่มีพลังขับเคลื่อนชุมชนในพื้นที่

รวมทั้งสื่อสารมวลชนทุกแขนง โดยผ่านทุกช่องทาง Social Network ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าหากทุกองคาพยพร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ สัดส่วนการจ่ายเงินฯ คืนจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยทางกองทุนฯ จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้ประชาชนผู้เอาประกันสามารถตรวจสอบสิทธิ ขอรับสิทธิ และรับผลประโยชน์คืนผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว โดยโอนตรงเข้าบัญชีแบบไร้เงินสด

นายนพพล กล่าวต่อว่า ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ตนเองมีนโยบายเชิงกลยุทธ์ด้วยการยึดผู้เอาประกันภัยหรือเจ้าหนี้ เป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ให้ได้รับการบริการ 4S คือ Simple (เรียบง่ายไม่ซับซ้อน) Speed (ความรวดเร็ว) Solution (มีทางออกในทุกปัญหา) และ Satisfaction (ได้รับความพึงพอใจในทุกกรณี)

พร้อมขับเคลื่อนกองทุนฯ บนพื้นฐานการพัฒนา 3P ภายในองค์กรทั้ง Personnel (บุคลากร) Process (กระบวนการปฏิบัติงาน) และ Platform (ระบบรองรับ) ซึ่งแน่นอนว่าในยุคปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ และที่สำคัญคือต้องก้าวเดินไปด้วยกันกับกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) สอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัย และยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต

สำหรับการเตรียมการรองรับกรณีบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาต และกองทุนฯ ต้องเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปนั้น กองทุนฯ ได้ศึกษาและจัดทำแผนรองรับเบื้องต้นในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าทุกบริษัทประกันชีวิตยังคงมีความมั่นคงแข็งแกร่งในระยะยาว โดยอัตราความพอเพียงของเงินกองทุน (%CAR) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด (Supervisory CAR ที่ 140%) ค่อนข้างมาก

นอกจากนั้น ในเรื่องการลงทุนของกองทุนฯ ที่มีสินทรัพย์ลงทุนในปัจจุบันสูงถึงกว่า 9,000 ล้านบาทนั้น กองทุนฯ จะศึกษาหาแนวทางเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนให้สูงขึ้น เพื่อให้เงินกองทุนเพิ่มพูนขึ้น และสามารถรองรับเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยของเงินลงทุนทั้งหมด โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายและกฎเกณฑ์การลงทุนอย่างเคร่งครัด ด้วยการควบคุมกำกับดูแลโดยอนุกรรมการลงทุน

นายนพพล กล่าวสรุปว่า ด้วยความเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ที่ได้บริหารงานในธุรกิจประกันชีวิตมากว่า 30 ปี นโยบายเชิงกลยุทธ์ 4S Service ในการขับเคลื่อนกองทุนฯ ด้วยการพัฒนาระบบ 3P ภายในองค์กร พร้อมไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นปัจจัยนำการขับเคลื่อน จะนำไปสู่การดำเนินบทบาทและภารกิจกองทุนฯ สู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยอันเป็นภารกิจหลัก

การประสานความร่วมมือกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง การต่อยอดสร้างเครือข่ายและทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก ตลอดจนการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ภายใต้การปฏิบัติที่เคร่งครัดตามขอบเขตของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วยธรรมาภิบาลที่ดี

ทั้งหมดนี้จะนำพากองทุนฯ สู่ความสำเร็จด้วยการสร้างผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย พร้อมไปกับการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในธุรกิจประกันชีวิตไทย ดังเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต อย่างแน่นอน