จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ จีดีพีอังกฤษ หนุนเงินบาทอ่อนค่า 34.60 บาท

จับตา เงินเฟ้อสหรัฐ จีดีพีอังกฤษ หนุนเงินบาทอ่อนค่า 34.60 บาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.10-34.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย.-ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด-จีดีพีไตรมาสแรกของอังกฤษ” ด้านฟันด์โฟลว์เห็นแรงซื้อสลับขาย

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 9-13 พฤษภาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.10-34.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2565 ของสหรัฐ โดยตลาดคาดว่าตัวเลขจะชะลอตัวลดลง

อย่างไรก็ดี หากตัวเลขออกมาสูงขึ้น จะเป็นการตอกย้ำแนวคิดของนักวิเคราะห์และตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 0.75% ได้

นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการแถลงการณ์หรือคอมเมนต์ของเจ้าหน้าที่เฟดต่อมุมมองภายหลังจากเฟดปรับดอกเบี้ยขึ้นไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดอยากรู้มุมมองของเฟดต่อการขึ้นดอกเบี้ย

รวมถึงต้องติดตามตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/65 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีหลายปัจจัยกดดันทั้งในส่วนของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยหากตัวเลขจีดีพีออกมาแย่หรือติดลบเช่นเดียวกับสหรัฐ จะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จะทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าได้เช่นกัน

ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 พ.ค. 65) พบว่า ตลาดหุ้นมียอดขายสุทธิ 2,543 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิราว 6,940 ล้านบาท

โดยคาดการณ์ฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้ายังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ภาพรวมตลาดยังคงซื้อสลับขาย และหากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ออกมาไม่ได้เลวร้ายนัก อาจจะเห็นการเทขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งโดยรวมตลาดหุ้นและบอนด์มองว่ายังคงเป็นไหลออกสุทธิ

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีแรงเทขายบอนด์ตัวสั้นและยาว โดยเห็นผู้เล่นบางส่วนเล่นบนค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหลัก ๆ มาจากปัจจัยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ หรือ Dollar Index รวมถึงฟันด์โฟลว์จากทองคำด้วย โดยสัปดาห์หน้าตัวคีย์เมสเซสสำคัญจะเป็นคอมเมนต์จากเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเป็นคนที่มีผลในการโหวตด้วย”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 34.15-34.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะมีข้อมูลเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ของสหรัฐ

ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าตัวเลขจะออกมาอยู่ที่ 8.1% เทียบปีต่อปี รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) 10 ปี ของสหรัฐ จะทะลุ 3.0% ขึ้นมา ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ และกดดันราคาตลาดสินทรัพย์เสี่ยง

“ในภาพใหญ่ เงินบาทยังคงอ่อนค่าในไตรมาสนี้จากประเด็นความกังวลเงินเฟ้อโลกจากต้นทุนพลังงานที่สูง รวมถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ โดยนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มลดพอร์ตในสินทรัพย์สกุลเงินบาท แต่กระแสเงินทุนไหลออกไม่น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะตื่นตระหนก อีกทั้งเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินภูมิภาค”