เงินบาทผันผวน จับตาสัปดาห์หน้า ถ้อยแถลงเฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย

เงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร

เงินบาทผันผวน เผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงในการประชุมเดือน มิ.ย.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทเผชิญแรงขายเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีที่ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงแรกสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียในภาพรวม ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐก่อนการประชุมเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าช่วงสั้น ๆ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อทำกำไรหลังผลการประชุมเฟด แม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ไปที่กรอบ 0.75-1.00% ตามคาด แต่ก็ส่งสัญญาณไม่เร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยเพราะคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ และตลาดบางส่วนกลับมาประเมินว่า เฟดอาจต้องเร่งคุมเข้มดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. เพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐ

 เงินบาท-8 พ.ค.

ในวันศุกร์ (6 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 เม.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 2-6 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,543.2 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 6,971.2 ล้านบาท (มาจาก การขายสุทธิพันธบัตร 6,940.3 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 30.9 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาการนำเข้า/ส่งออกเดือน เม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ของจีน อาทิ การส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน

ตลาดหุ้นไทย set-8 พ.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในช่วงก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยังคงร่วงลงต่อเนื่องตามตลาดหุ้นต่างประเทศในช่วงที่เหลือของสัปดาห์

ทั้งนี้ แม้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และประธานเฟดยืนยันว่า ยังไม่ได้พิจารณาที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% แต่บรรยากาศการลงทุนในภาพรวมยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐในระยะข้างหน้า

ในวันศุกร์ (6 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,629.58 จุด ลดลง 2.27% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 72,389.74 ล้านบาท ลดลง 4.35% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.28% มาปิดที่ 627.78 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,615 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของ บจ.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เม.ย. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย.ของจีน