ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง หลังเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ขณะที่ปัจจัยในประเทศ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล”เชื่อกนง.ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจน คาดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/5) ที่ระดับ 34.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 34.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 10 ปีที่ขึ้นมายืนเหนือระดับ 3% หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 428,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 400,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4%

ทั้งนี้การฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นปัจจัยหนุนต่อการดำเนินการเข้มงวดนโยบายการเงินในเชิงรุกต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อเร่งสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปก่อน จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกลับมาอย่างชัดเจน โดยคาดว่า ธปท.จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงปลายปี’65 จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ต่อปี

แต่ในแง่ของค่าเงินบาทมองว่าแนวโน้มยังอ่อนค่า เป็นผลจากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดงบดุลของสหรัฐ (QT) ส่งผลให้เงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่มองว่ามีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งจะต้องติดตามแนวทางการบริหารจัดการค่าเงินบาทของ ธปท.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อทำให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุล

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.40-34.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (9/5) ที่ระดับ 1.0528/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 1.0564/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงโดนถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างยูเครนกับรัสเซียหลังจากสหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0496-1.0529 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0522/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/5) ที่ระดับ 130.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 130.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง จากภาวะความแตกต่างทางนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.71-131.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาการนำเข้า/ส่งออกเดือน เม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.60/-0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.70/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ