ดอลลาร์อ่อนค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/5) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/4) ที่ระดับ 34.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% จากผลของการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกอบกับสถานการณ์โควิดในประเทศจีน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง และถือครองสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ตลาดเฝ้าติดตามการรายงานดัชนี ราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนของสหรัฐ ในคืนวันพุธ (11/5) ในขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) จะส่งผลต่อสภาพคล่อง และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย หลังจากที่หดตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 1/65

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดลงจากเดือน มี.ค. 65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.50-4.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.54/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (10/5) ที่ระดับ 1.0561/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/5) ที่ระดับ 1.0526/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากภาวะความแตกต่างของนโยบายทางการเงินระหว่างอีซีบีและเฟด ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังส่งสัญญาณยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0536-1.0586 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0539/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/5) ที่ระดับ 130.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/5) ที่ระดับ 130.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า จากภาวะความแตกต่างทางนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่ง BOJ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.80-130.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน เม.ย. จากสหพันธ์ธุรกิจ อิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.60/-0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.70/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ