คลังขีดเส้น 15 วัน เปิดแถลงผลสอบความโปร่งใสโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี

สันติ พร้อมพัฒน์
สันติ พร้อมพัฒน์

คลังเร่งตรวจสอบความโปร่งใสการดำเนินโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ขีดเส้น 15 วัน แถลงผล ยันคณะกรรมการที่ รมว.คลัง เซ็นตั้งไม่เข้าข้างคนผิด พร้อมเปิดรายได้อีสวอเตอร์ส่งรัฐตลอด 30 ปี เพียง 600 ล้านบาท

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเร่งตรวจสอบความโปร่งใสโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออกหรืออีอีซีให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หรือ ให้เสร็จสิ้นตามกำหนดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ จากนั้นจะจัดให้มีการแถลงผลการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ ก่อนที่จะเดินหน้าเซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลรายใหม่

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีนายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ โดยตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ 1.ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.ตรวจสอบทางกายภาพระบบท่อส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งมอบและรับมอบ โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อการจัดทำระบบสาธารณูปโภคและหรือผู้ใช้น้ำ และ 3.พิจารณาข้อมูลปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของท่อส่งน้ำว่ารายได้ที่นำส่งเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

“ที่มีการมองว่า เราตั้งแต่คนในกระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว ในส่วนตัวผมมองว่า คณะกรรมการชุดนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนแต่งตั้งเอง ซึ่งท่านจะแต่งตั้งคนที่จะเข้าข้างคนผิดเหรอ ฉะนั้น ขอให้มั่นใจในกระบวนการตรวจสอบ”

สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการตรวจสอบโครงการดังกล่าว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องร้องเรียนจากคณะบุคคล ซึ่งไปพูดในเชิงลบต่อโครงการดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่เราก็ต้องฟัง จึงขอให้ยืดเวลาในการเซ็นสัญญาโครงการนี้ไปก่อนเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีใหม่ เนื่องจากผู้สัมปทานเดิม คือ อีสวอเตอร์ จะหมดสัญญาในการดำเนินโครงการท่อส่งน้ำที่ 1 ในปี 2566 ดังนั้น ในช่วง 2 ปีก่อนที่จะหมดสัญญา ทางกรมจำเป็นต้องเปิดประมูลใหม่เพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าได้ต่อไป

“คลังเองก็มีประสบการณ์ว่า เมื่อมีการประมูลโครงการใด ๆ ในฝั่งผู้แพ้ก็จะมีการร้องเรียนตลอด ฉะนั้น เราก็ต้องเตรียมตัวและใช้เวลาในการประมูลเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย”

นายสันติกล่าวด้วยว่า โครงการท่อส่งน้ำอีอีซีดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้น้ำทั้งในการบริโภคและ การผลิตสินค้า หากมีข้อติดขัดในการส่งน้ำจะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่ประมาณค่าไม่ได้ ดังนั้น กรมจึงจำเป็นต้องเร่งให้มีการเดินหน้าโครงการท่อส่งน้ำดังกล่าว

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการ 2 รายที่เข้ายื่นประมูลจาก 5 รายที่กรมฯได้ส่งหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมประมูล โดยผู้ที่ยื่นประมูลได้แก่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (อีสวอเตอร์) และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยวงเงินประมูล 2.56 หมื่นล้านบาท ส่วนอีสวอเตอร์เสนอราคาที่ 2.42 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 3 บริษัท ที่ไม่ได้ยื่นประมูลเข้ามา ประกอบด้วย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วิค จำกัด (มหาชน)

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลประโยชน์ตอบแทนในการจัดให้บริษัท อีสท์วอเตอร์ เช่าหรือบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537-2564 รวมจำนวน 600.87 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย 275.89 ล้านบาท โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ 209.6 ล้านบาท และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) 115.38 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ที่อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้บริหารท่อส่งน้ำ ตามเงื่อนไขสัญญา 30 ปี ระบุให้ผลประโยชน์แก่รัฐ เพียงปีละ 1% ของรายได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2537-2564 อีสท์วอเตอร์ส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด 16.35 ล้านบาท ในปี 2563 และส่งรายได้เข้ารัฐต่ำสุด 3.77 ล้านบาท ในปี 2543

ขณะที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ อีสท์วอเตอร์ ได้เริ่มเข้ามาบริหารท่อส่งน้ำในปี 2541 ซึ่งจะต้องส่งรายได้เข้ารัฐ 3% ของรายได้ โดยปีแรกส่งรายได้เข้ารัฐ 6.4 แสนบาท ต่อมาในปี 2558 รัฐได้เรียกเก็บค่าตอบแทน จากเดิม 3% ของรายได้ เป็น 7% ส่งผลให้ปี 2558 อีสท์วอเตอร์ ส่งรายได้เข้ารัฐ 18.94 ล้านบาท

ส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อีสท์วอเตอร์ เข้ามาบริหารท่อส่งน้ำในปี 2542 ซึ่งจะต้องส่งรายได้เข้ารัฐ 3% ของรายได้ โดยปีแรกส่งรายได้เข้ารัฐ 4.2 แสนบาท ต่อมาในปี 2558 รัฐได้เรียกเก็บค่าตอบแทน จากเดิม 3% ของรายได้ เป็น 7% ส่งผลให้ปี 2558 อีสท์วอเตอร์ ส่งรายได้เข้ารัฐ 11.36 ล้านบาท