“บาทอ่อน” ทุบซ้ำต้นทุนสินค้า จับตาทะลุ 35 บาทดันเงินเฟ้อ

เงินบาท

 

ผวาเฟดรัวขึ้นดอกเบี้ยดันบาทอ่อนทะลุ 35-36 บาท/ดอลลาร์ “ทีทีบี” ชี้เทรนด์ดอลลาร์แข็งต่อเนื่อง โจทย์ยากแบงก์ชาติ เผย “บาทอ่อน” ยิ่งนำเข้าเงินเฟ้อ ซ้ำเติม “ต้นทุนผู้ผลิต-ค่าครองชีพประชาชน” พุ่ง กสิกรไทยจับสัญญาณ ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4 “แบงก์ชาติ” ยันบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค ด้านเอกชนห่วงต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าไปประมาณ 3% โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 เงินบาทแตะ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ (นับตั้งแต่ พ.ค. 2560) โดยเป็นทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องจากวันก่อนหน้าที่ปิดตลาด 34.62 บาทต่อดอลลาร์ และวันที่ 13 พ.ค. ค่าเงินบาททรงตัวอยู่ที่ระดับ 34.70-34.73 บาทต่อดอลลาร์

จับตาบาทอ่อนทะลุ 35 บาท

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ครั้งละ 0.50% ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ ไปจนถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อช่วงปี 2558-2559 ที่เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ย และทำมาตรการคิวอี

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่า แน่นอนว่าจะมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลกระทบ และได้ประโยชน์ โดยกลุ่มธุรกิจที่ส่งออกเป็นหลักไม่ค่อยมีการนำเข้า เช่น สินค้าเกษตร, อาหารทะเล, ยางพารา เป็นต้น จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่ามากที่สุด ขณะที่ธุรกิจที่นำเข้ามากแต่ส่งออกน้อย จะได้รับผลกระทบมาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักร เป็นต้น

ส่วนธุรกิจที่มีการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติคือมีการนำเข้าใกล้เคียงกับส่งออก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, เคมีภัณฑ์, เครื่องดื่ม เป็นต้น กลุ่มนี้แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ขายสินค้าแพงขึ้นได้

บาทอ่อนทุบซ้ำน้ำมันแพง

นายนริศกล่าวว่า เงินบาทไม่ถือว่าอ่อนค่ามากที่สุด ถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยนับจากต้นปีมาถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้วราว 3% ในขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าแล้วถึง 12% ขณะที่เงินวอนเกาหลีอ่อนค่าไป 6% และเงินหยวนของจีนอ่อนค่าราว 5%

เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีมากกว่าสัดส่วนการนำเข้า ดังนั้นการที่บาทอ่อนก็จะได้ประโยชน์มากกว่ากรณีบาทแข็ง แต่บาทอ่อนจะกระทบด้านการนำเข้า อย่างกรณีไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ก็จะมีต้นทุนราคาแพงขึ้น ซึ่งจะมีการส่งผ่านผลกระทบมายังผู้บริโภคมากขึ้น

โจทย์ยากแบงก์ชาติ

นายนริศกล่าวด้วยว่า หากจะแก้ปัญหาโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ ก็อาจจะไล่ตามดอกเบี้ยเฟดไม่ทัน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวร้อนแรงกว่าเศรษฐกิจไทย โดยแนวโน้มเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีก ดังนั้นการจะแก้ปัญหาบาทอ่อน คงแก้ยาก เพราะเป็นเรื่องดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้บาทอ่อนแต่อย่างใด

การจะขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องพิจารณา โดยคำนึงถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงด้วย เพราะ 1.ขึ้นดอกเบี้ยไปก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุมเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ 2.ไม่รู้ว่าดอลลาร์จะหยุดแข็งค่าหรือไม่ และ 3.หนี้ครัวเรือนที่สูง รายย่อยและเอสเอ็มอีที่เปราะบางจะรับภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

ลุ้น ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในระยะนี้เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่า และมีโอกาสทดสอบระดับ 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงกดดันของดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าในช่วงนี้ ซึ่งหากบาทอ่อนไปที่ 35.20 บาท จะเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับจากเดือน มี.ค. 2560 โดยช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนหนักและถูกกดดันจากท่าทีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการปิดเมืองของจีน ทำให้เงินบาทอ่อนทะลุ 34.52 บาท อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 ไปแล้ว

ในขณะที่ ธปท.มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาที่ 4 ของปีนี้ เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ และจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และเฟดแคบลงด้วย

ขณะนี้กสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์เงินบาท ณ สิ้นปีนี้ใหม่ โดยคาดจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงมากกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ที่ 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่มีแนวโน้มผลักดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกใกล้สมดุล

เกาะติดผลกระทบ “เงินเฟ้อ”

ด้านนางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่ามาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัจจัยการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจในประเทศจีนด้วย ซึ่งปัจจัยภายนอกนี้ไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังส่งผลไปยังสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังเป็นไปตามภูมิภาค

โดย ธปท.ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และยังพบว่าค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวปกติ แต่ ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะปัจจัยภายนอกยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง

ในแง่ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และเศรษฐกิจ ขณะนี้ผลกระทบยังมีไม่มาก แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเครื่องมือที่ ธปท.ใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะมีตั้งแต่เบาและหนัก เช่น การเข้าไปซื้อขายในตลาด หรือที่เรียกว่า intervene หรือกรณีที่เริ่มมีผลต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะใช้นโยบายดอกเบี้ย แต่หากเริ่มมีผลกระทบรุนแรงจะใช้มาตรการ capital control ควบคุมเงินไหลเข้าและออก

“ปัจจุบันค่าเงินที่ลิงก์กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจมีผลบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่แบงก์ชาติจะต้องดำเนินการอะไร และหากดูเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจาก supply shock ที่มาจากราคาอาหารและน้ำมัน ไม่ได้เป็นผลมาจากค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี เราก็มีการติดตาม ทั้งปัจจัยที่มีผลต่อโฟลว์ในตลาด ติดตามกิจกรรมและธุรกรรมในตลาดต่างประเทศ รวมถึงดูกลไกตลาดเป็นปกติหรือไม่ โดยหากมีความจำเป็นและมีความผิดปกติ ก็ดูแลตามความเหมาะสม” นางอลิศรากล่าว

ห่วงบาทอ่อนต้นทุนสินค้าพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา แม้ว่าค่าบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว แต่ที่น่าห่วงคือ เรื่องเงินเฟ้อ เพราะไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 90% ทั้งยังมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและทุน หากบาทอ่อน ผู้นำเข้าสินค้าจะมีต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้า

โดยเฉพาะราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอาจต้องปรับขึ้นไปอีก กระทบค่าครองชีพ และดุลการค้าของไทย ซึ่งตอนนี้ไทยขาดดุลการค้าครั้งแรกในไตรมาส 1 ไม่ได้ขาดดุลมานานแล้ว นี่เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ ส.อ.ท.สำรวจข้อมูลสมาชิกเพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อนำไปกำหนดมาตรการดูแลต่อไป ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐเข้ามาดูแลคือ เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน จากก่อนหน้านี้ขอให้ดูแลให้อยู่ในกรอบ 32.50-33.50 บาท ผู้ส่งออกรับได้ แต่ต้องมีเสถียรภาพ ส่วนเอกชนก็ต้องประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย