ดอลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง

ภาพ : pixabay

ดอลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง โกลด์แมน แซคส์ คาดเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า จากแรงกดดันนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.53/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 34.66/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 34.76/77 บาท ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Rmpire State Index) ร่วงลงสู่ระดับติดลบในเดือน พ.ค. หลังจากที่ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือน เม.ย.

เฟดสาขานิวยอร์กรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตร่วงลงแตะ 11.6 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 24.6 ในเดือน เม.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 16.5 อย่างมาก นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 59.1 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 64.0 ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น รวมทั้งตลาดหุ้นที่ดิ่งลง

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดัน หลังทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งนำโดยนายแจน แฮทซีอุส ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่าตลาดการเงินของสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT)

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.4% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.6% และคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.2%

โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า นอกเหนือจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ รวมทั้งผลกระทบจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน

นอกจากนี้ ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยระบุว่าสถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อเฟดใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มักจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย

พร้อมกับกล่าวว่า ความพยายามของเฟดที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing นั้น อาจเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.53-34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 34.53/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/5) ที่ระดับ 1.0441/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 1.0383/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังผู้ว่าการธนาคารกลางสเปนเปิดเผยว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มตัดสินใจยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. โดยจะมีการหารือในการประชุมนัดถัดไป และคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วหลังการประชุม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0429-1.0492 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0485/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 129.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 128.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาระบุในวันนี้ (13 พ.ค.) ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ BOJ จะปรับลดขนาดนโยบายผ่อนคลายการเงิน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในญี่ปุ่นนั้น “แตกต่างอย่างสิ้นเชิง” เมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 128.84-129.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานสหรัฐ เดือน เม.ย. (17/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน เม.ย. (18/5), จำนวนใบอนุญาตก่อสร้างสหรัฐ เดือน เม.ย. (18/5), ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐจากเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย เดือน เม.ย. (19/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ