กอบศักดิ์มองบาทอ่อนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้

เงินบาท

“กอบศักดิ์” ชี้ข้อดี “บาทอ่อน” หนุนฟื้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม คาดมีโอกาสอ่อนค่าระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์เหมือนหลังวิกฤตซับไพรม

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Dr.KOB” (https://www.facebook.com/drkobsak) ระบุถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า เงินบาทจะอ่อนไปถึงไหน เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ เพราะเมื่อวันก่อน อ่อนต่อเนื่องไปที่ 34.849 บาท/ดอลลาร์

“ในประเด็นนี้ ในแต่ละวัน เราคงบอกไม่ได้ว่าเงินบาทจะขึ้นหรือลง แต่ในระยะยาว เราพอจะเห็นได้เลา ๆ  หัวใจสำคัญที่กำหนดทิศทางเงินบาท คือ แนวโน้มของดอลลาร์ ที่ล่าสุด แข็งขึ้นจากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก คือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ที่เฟด ‘ขอไปก่อน ไม่รอแล้วนะ’ ขึ้นดอกเบี้ย และเตรียมที่จะดูดสภาพคล่องกลับ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังรีรอ และบางประเทศ เช่นญี่ปุ่นและจีน ยังอัดฉีดสภาพคล่องออกมาต่อเนื่อง จากวัฏจักรเศรษฐกิจที่ต่างกัน ความแตกต่างนี้ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งขึ้นต่อเนื่องมาสูงสุดที่ 104.972 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนจะอ่อนลงมาเล็กน้อย”

ในระยะต่อไป เงินดอลลาร์น่าจะยังมีแนวโน้มแข็งขึ้นอีกระยะ จากส่วนต่างของดอกเบี้ย จากความรวดเร็วในการปรับขึ้น จากการดูดสภาพคล่อง และจาก Carry trade ทั้งหมดจึงหมายความต่อไปว่า ค่าเงินบาท ยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้อีก

ดร.กอบศักดิ์ชี้ว่า เมื่อช่วงหลังจบวิกฤต Subprime เฟดเริ่มทำ Tapering และต่อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2015 ทำให้ในช่วงดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นค่าเงินบาทจึงอ่อนลงไปอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์ และคงอยู่ในระดับดังกล่าวเป็นเวลา 12-15 เดือน

“รอบนี้ก็เช่นกัน แนวถัดไปของค่าเงินบาทที่เราต้องจับตามองคือ ระดับ 35-36 บาท ทั้งนี้ มีคนถามต่อว่า แล้วเงินบาทควรอ่อนหรือไม่ เพราะจะกระทบกับราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ปกติแล้ว ค่าเงินที่ขึ้นลงมีผลกระทบทั้งบวกและลบ ดีกับภาคส่งออก ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว ลบกับภาคนำเข้า และราคาสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงาน อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ค่าเงินที่อ่อนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ส่งออกได้ ราคาสินค้าเกษตรดี คนเลือกมาเที่ยวไทยมากขึ้น และคนไทยใช้ของไทยมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้นอีกเล็กน้อย”

จากมุมมองนี้ และจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่โดยรวมเศรษฐกิจจะซบเซา ขยายตัวได้น้อยลงจากที่คาดไว้พอสมควร ทุกคนจะทำมาค้าขายยากขึ้น จากปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก


“การที่เราจะซื้อประกัน โดยมีค่าเงินที่อ่อนลงอีกเล็กน้อย ก็น่าจะดีกับเศรษฐกิจไทย เพราะช่วงเงินเฟ้อ ถ้าเฟ้อแล้วยังทำมาหากินได้ ก็จะพออยู่ได้ แต่ถ้าเฟ้อแล้วฝืดเคือง ทุกคนจะลำบาก ส่วนเรื่องผลกระทบต่อราคาพลังงาน ทางรัฐบาลมีหลายแนวทางที่จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ ที่จะช่วยลดผลกระทบกับทุกคน ทางนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเวลานี้ครับ” ดร.กอบศักดิ์ระบุ