KBANK มั่นใจครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้น ปรับเป้าเงินบาทสิ้นปี 33.5 บาท/ดอลลาร์

เศรษฐกิจไทย

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มั่นใจครึ่งปีหลังท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ปรับประมาณการค่าเงินบาท 33.5 บาทต่อดอลลาร์ ภายในสิ้นปี

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงซึ่งตามมาด้วยการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และปัญหาสงครามที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน นอกจากนี้ยังมีความกังลวที่เศรษฐกิจจะเสี่ยงถดถอยลง

โดยคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 7-8 ครั้ง ขณะที่ความกังวลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเริ่มย้ายมาที่ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณถดถอย แต่มองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากปีนี้ปัจจัยต่าง ๆ ยังไม่จบลงจึงประเมินได้ยาก แต่อาจมีโอกาสเกิดมากขึ้นในปีหน้าได้

โดยกสิกรไทยได้พิจารณาปรับประมาณการเป้าหมายค่าเงินบาทจาก 32.3 บาทต่อดอลลาร์ มาเป็น 33.5 บาทต่อดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องแนวโน้มหลังผู้ติดเชื้อโควิดลดลง ขณะเศรษฐกิจมีช่องทางให้เติบโต กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่จะหนุนการเติบโตที่มากขึ้น

“ทั้งนี้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้าประเมินกรอบเงินบาทที่ 33.90-35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดยังมีความกังวลต่อการใช้นโยบายของเฟดที่จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ ฉะนั้นเมื่อเงินเฟ้อยังไม่หยุดนิ่ง การประเมินการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจึงทำได้ยาก ทำให้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม” นายวิทวัส กล่าว

นายวิทวัส เลิศบรรณพงษ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ส่งผลให้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าไปในตลาดสหรัฐและทำให้ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง

โดยที่ปัจจุบันเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 4-5% คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าสวนทางกับเงินบาทอ่อนค่าอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งโดยสถิติประเทศไทยจะมีดอกเบี้ยที่ไม่ห่างกันกับของสหรัฐเกิน 1%

นายภาสกร ลินมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2565 เป็นปีที่ยากลำบากของตลาดหุ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาสงคราม รวมถึงเรื่องพลังงานและเงินเฟ้อ แต่ยังคงมุมมองต่อหุ้นว่าเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนยังให้ความสนใจลงทุนแม้ว่าในครึ่งปีหลังอาจลดน้อยลง

โดยมองว่าตลาดได้รับข่าวปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปมากพอสมควร ฉะนั้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะเป็นช่วงที่เงินเฟ้อขึ้นไปถึงจุดพีก และเมื่อเงินเฟ้อขึ้นไปสูงระดับที่มากพอและเริ่มมีการปรับลดลงมา เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและประเมินได้มากขึ้น ตลาดก็จะคลายกังวลต่อประเด็นนี้มากขึ้น หากเป็นไปตามสถานการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าในช่วงปลายปีตลาดหุ้นจะฟื้นตัวได้ดี

สำหรับตลาดหุ้นไทยทางกสิกรไทยได้มีมุมมองบวกน้อยลงต่อตลาดหุ้นไทยและลดเป้า SET Index ของปี 2565 เป็น 1,650 จุด จากเดิม 1,680 จุด เนื่องจากการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของ GDP ที่ลดลง และคำนวณจาก EPS ที่คาดการณ์ไว้ที่ 100.4 บาท และ EYG ที่ -0.875 SD

โดยธีมลงทุนหลักในปี 2565 และหุ้นที่แนะนำ มีดังนี้

1.หุ้นเล่นเติบโต (BE8 RBF และ CHAYO) เราคาดว่าหุ้นเหล่านี้จะรายงานกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นแข็งแกร่งในปี 2565/2566

2. หุ้นที่มีอัตราตอบแทนสูง (KKP KTB DCC และ DTAC) คาดหุ้นปันผลจะเคลื่อนไหวดีกว่าในช่วงที่ตลาดอ่อนตัวลง

3.หุ้นกลุ่ม Anti-commodities (GPSC และ EPG) ราคาน้ำมันที่ลดลงคาดจะส่งผลบวกต่อ GPSC และ EPG จากต้นทุนวัตถุดิบตั้งต้นที่ลดลง

4.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่อั้นไว้ (BH MINT SHR BEM และ SPRC) การเปิดเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก จากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางและอุปสงค์ที่อั้นไว้คาดจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ป่วยของ BH อัตราการเข้าพักและค่าห้องพักรายวันเฉลี่ยของ MINT และ SHR จำนวนรถยนต์ที่ใช้ทางด่วน/รถไฟฟ้าของ BEM และ GRM ของ SPRC

5.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลง (ASIAN SAPPE และ SCGP) ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าคาดจะได้ประโยชน์จากค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลง ดัชนี SCFI ลดลง 14% YTD จากปัญหาท่าเรือแออัดที่บรรเทาลงและอุปสงค์ที่เติบโตขึ้น