ดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดเงินซื้อขายเบาบาง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (25/12) ที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และภาวะขาดแคลนสต็อกบ้านในตลาด ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.4% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าระดับ 6.2% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.78-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (27/12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1865/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (26/12) ที่ระดับ 1.1869/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายซิกมาร์ กาเบรียล รมว.ต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และประเทศอังกฤษในการเจรจาว่าด้วยการแยกตัวของประเทศอังกฤษออกจาก EU (Brexit) จะสามารถเป็นโมเดลให้กับประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ EU แต่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วม RU เช่น ยูเครน และตุรกี ทั้งนี้ EU เห็นพ้องให้การเจรจากับประเทศอังกฤษเกี่ยวกับ Brexit สามารถเข้าสู่ระยะที่ 2 หลังจากที่มีความคืบหน้าในการเจรจา 3 ประเด็นหลักก่อนหน้านี้ ซึ่งได้แก่ วงเงินที่อังกฤษจะต้องชำระแก่ EU ก่อนแยกตัวอย่างเป็นทางการ ปัญหาเรื่องชายแดนของไอร์แลนด์ และประเด็นสิทธิพลเมืองของ EU ในอังกฤษ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1865-1.1884 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1877/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนสของค่าเงินเยนวันนี้ (27/12) เปิดตลาดที่ระดับ 113.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (26/12) ที่ระดับ 113.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี จะให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้นายโยชิฮิเดะ ซูกะ ทางรัฐบาลถือว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นเรื่องสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัวต่อเนื่องยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยุคสงครามโลก หลังจากที่นายกฯอาเบะได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยนโยบายที่เรียกว่าอาเบะโนมิกส์ ขณะที่ตลาดหุ้นโตเกียวได้ปรับตัวขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 นอกจากนี้กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น รายงานว่าการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 277,631 เยน หรือ 2,448 ดอลลาร์ การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนมีการปรับตัวขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะการซื้อตู้เย็น เครื่องซักผ้า และสินค้าในด้านกีฬา รวมทั้งการเดินทาง และการทานอาหารนอกบ้าน ทั้งนี้ คาดกันว่า การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี จะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีความหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช่วยหนุนเงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 113.16-113.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นเดือนพฤศจิกายน (28/12) การผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (28/12) ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (28/12) อัตราเงินเฟ้อเยอรมนี เดือนธันวาคม (29/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.00/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.50/-5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ