รัฐเก็บรายได้ 2เดือนแรกเกินเป้า1.6หมื่นล.”รัฐวิสาหกิจ-สรรพสามิต”พุ่ง “สรรพากร-ศุลกากร”ต่ำเป้า

รัฐบาลเก็บรายได้ 2 เดือนแรกเกินเป้า 1.6 หมื่นล้านบาท “รัฐวิสาหกิจ-สรรพสามิต” ดันรายได้รวมพุ่ง ขณะที่ “สรรพากร-ศุลกากร” จัดเก็บต่ำเป้า

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 345,044 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,894 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.0) เป็นผลจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 7,094 3,613 และ 1,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.3 5.4 และ 8.0 ตามลำดับ ในขณะที่กรมสรรพากร และกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,260 และ 1,412 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 และ 7.3 ตามลำดับ

โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 240,367 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,260 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,584 และ 1,228 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9) และร้อยละ 2.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.9) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 192 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3)
ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 70,058 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,613 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีเบียร์ ภาษีรถยนต์ และภาษีน้ำมัน ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,969 1,302 และ 364 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 54.3) ร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.1) และร้อยละ 1.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.3) ตามลำดับ

ส่วนกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 17,988 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,412 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 1,643 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าต้องอากรของสินค้าที่มีสัดส่วนอากรขาเข้าสูง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 38,901 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,094 ล้านบาทหรือร้อยละ 22.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.5) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กองทุนรวมวายุภักษ์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการประปาส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 24,593 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30)

เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน เป็นสำคัญ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 585 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 61 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.4) โดยรายได้จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

ทั้งนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 40,271 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,176 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 33,384 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,216 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 6,887 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,040 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.8

ขณะที่อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 2,071 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 71 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 2,721 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 116 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 และ เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 1,800 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 806 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 เป็นผลจากการปรับอัตราการคืนเงินชดเชยภาษีสำหรับส่งออกจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

สำหรับในเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 149,043 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,137 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 3,541 2,650 และ 461 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 155.4 และ 7.8 ตามลำดับ สำหรับภาษีที่จัดเก็บสูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษียาสูบ ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ เป็นสำคัญ

“สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวดีของการบริโภคภาคเอกชน นับเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ” นางสาวกุลยากล่าว