KTAM แนะจัดพอร์ตให้น้ำหนักหุ้น 50% จับจังหวะปรับฐานทยอยสะสม

กองทุน SSF- RMF กรุงไทยแนะลงทุนวางแผนจัดการภาษีฯ รับโค้งสุดท้ายสิ้นปี

KTAM ชี้เศรษฐกิจทั่วโลกยังเผชิญความเสี่ยง การลงทุนยังผันผวน แนะช่วงปรับฐานเป็นจังหวะทยอยสะสม ให้น้ำหนักตราสารหนี้ 40% หุ้น 50% และทองคำ 10% คาดครึ่งปีหลังทยอยฟื้นตัว

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTAM กล่าวว่า เศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2565 ยังคงเผชิญความเสี่ยงต่อการเติบโตโดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากเรื่องของเงินเฟ้อ การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหาร ซึ่งเป็นแรงผลักดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ ที่เป็นปัจจัยหลักที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา

ชวินดา หาญรัตนกูล
ชวินดา หาญรัตนกูล

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับท่าทีต่อการดำเนินนโยบายการเงินไปสู่ทิศทางที่ตึงตัวมากขึ้น ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QT) นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ก็ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและป้องกันเงินทุนไหลออก ขณะที่ธนาคารยุโรปแม้จะยังสงวนท่าทีอยู่ แต่มีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าสู่ความตึงตัวมากยิ่งขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565

ส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น การฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ทำได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จากการบริโภคภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล และการส่งออกที่ยังคงดีต่อเนื่องและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0.5% ต่อเนื่อง แต่ในกรณีที่ควบคุมการระบาดได้แล้ว มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในประเทศและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และอาจทำให้มีแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในประเทศจะถูกปรับขึ้น 0.25% ในช่วงปลายปี

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสหรัฐที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฉะนั้นช่องว่างของดอกเบี้ยที่ห่างกันมาก ๆ อาจจะผลกระทบต่อฟันด์โฟลว์ที่จะไหลออกตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจะยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวยังไม่พร้อมต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่โดยสถิติดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยของสหรัฐจะห่างกันไม่เกิน 2% ฉะนั้นเชื่อว่าคงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันในเรื่องของฟันด์โฟลว์

ปี 2565 เป็นปีที่ทุกการลงทุนมีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกองทุนรวมเป็นกลุ่มที่ได้ผลกระทบมากที่สุด โดยแนะนำการลงทุนที่ล้อไปกับเรื่องของเงินเฟ้อ อย่างทองคำ , พลังงาน และน้ำมัน ที่ยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีและอิงไปตามสถานการณ์ และการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงมากก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้นักลงทุนได้จึงต้องทำความเข้าใจให้มาก

สำหรับสัดส่วนการจัดพอร์ตลงทุนโดยหากดูจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่เริ่มเห็นพลิกกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แนะนำลงทุนตราสารหนี้ในสัดส่วน 40% ส่วนตราสารทุน (หุ้น) แนะสัดส่วน 50% โดยมองเป้าหมายการลงทุนไปที่ฝั่งของตลาดหุ้นเอเชีย อย่าง ประเทศจีน ก็ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจในระยะยาว และการลงทุนทางเลือกอย่างทองคำหรือน้ำมันแนะนำ 10% ของพอร์ต ทั้งนี้จากราคาน้ำมันปรับขึ้นมาไกลพอสมควรไม่แนะให้เพิ่มพอร์ต แต่แนะนำลงทุนในทองคำมากกว่า เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ทองคำน่าจะยังเติบโตต่อได้และเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดี

“การลงทุนยังคงมีความผันผวน แนะนำใช้วิธีทยอยสะสมช่วงที่ตลาดปรับฐาน ทั้งนี้มองว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดรับรู้ข่าวไปมากพอสมควรแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและการลงทุนน่าจะกลับมาดีอีกครั้ง แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด” นางชวินดากล่าว