แบงก์เร่งลดหนี้ NPL โค้งท้าย เทกระจาดขายทั้งปี 9 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยทีเอ็มบีคาด Q4/2560 แบงก์ยังแห่ขายหนี้เสีย หวังกดยอดหนี้เอ็นพีแอลให้ลดลงได้ตามเป้า ประเมินภาพเอ็นพีแอลแบงก์ทั้งระบบทั้งปี 2560 โต 5% ชี้กลุ่มเอสเอ็มอี-สินเชื่อบ้านหนี้ยังพุ่งต่อเนื่องถึงปี 2561 ขณะที่ SAM เผยแบงก์ส่งหนังสือเชิญร่วมประมูลซื้อหนี้ตลอดปี 9 หมื่นล้านบาท ฟากแบงก์ “กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์” รับขายหนี้เสียต่อเนื่องเพื่อคุมยอดเอ็นพีแอล

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี ธนาคารพาณิชย์มักจะมีการจำหน่ายหนี้เสีย รวมถึงการตัดหนี้สูญออกไป เพื่อให้ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์ลดลง โดยตลอดปี 2560 นี้ก็พบว่าแบงก์มีการขายหนี้เสียออกมาต่อเนื่อง

นริศ สถาผลเดชา

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินว่า NPL ทั้งระบบในปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากปี 2559 ที่มี NPL ทั้งสิ้น 385,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 404,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.8% เท่ากับปี 2559

นายนริศกล่าวว่า กลุ่มเอสเอ็มอียังน่ากังวล เนื่องจากยังมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปีนี้มูลค่า NPL กลุ่มเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนอยู่ที่ 207,099 ล้านบาท มาเป็น 217,706 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรวมที่ 4.4% ถือว่าทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อบ้านที่มีหนี้ตกชั้น และเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยมูลค่า NPL กลุ่มสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 64,766 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.1% เพิ่มจากปีก่อนที่ NPL อยู่ที่ 2.9% หรือ 57,827 ล้านบาท

“อาจยังเห็นกลุ่มเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้านเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกในปี 2561 หลังจากปีนี้ก็เป็นกลุ่มที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ หลังแบงก์มีการโหมปล่อยสินเชื่อมาก อย่างไรก็ดี เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปี 2561 น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท หรือ 2.6% เพราะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 4 ปี 2560” นายนริศกล่าว

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ในไตรมาส 4/2560 บริษัทได้รับเชิญให้เข้าร่วมประมูลซื้อหนี้เสียจากแบงก์ต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ทำให้รวม ๆ แล้วปีนี้ ได้รับเชิญให้เข้าประมูลซื้อหนี้เสียรวม 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าปี 2560 นี้บริษัทน่าจะมียอดซื้อหนี้เสียรวมที่ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่รับซื้อหนี้เสียที่ 1,000 ล้านบาท

“ส่วนปี 2561 คาดว่าบริษัทจะเข้าไปซื้อหนี้เสียใกล้เคียงกับปี 2560 เนื่องจากแบงก์ยังน่าจะมีการตัดขายหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง” นายนิยตกล่าว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทั้งปี 2560 ธนาคารได้ตัดขายเอ็นพีแอล และตัดหนี้สูญไปราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้กลุ่มหลัก ๆ ที่ขายออก คือกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อย

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer (CFO) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในส่วนของธนาคารมีการขายหนี้เสียออกมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงไตรมาส 3/2560 แล้ว 9,000 ล้านบาท ขณะที่มีการตัดหนี้สูญอีก 11,000 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เอสเอ็มอี และสินเชื่อบ้าน

“เป็นวิธีปกติที่แบงก์ใช้บริหารจัดการเอ็นพีแอลไม่ให้สูงขึ้นมาก โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2560 เอ็นพีแอลของธนาคารน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.70% ได้ จากที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.75% และคุมให้อยู่ระดับนี้ในปี 2561” นางกิตติยากล่าว