“วิรไท” นำทัพ ธปท.ฝ่าโจทย์หินปีจอ

ปี 2560 เป็นปีที่เห็นจุดเปลี่ยนที่สัมผัสได้ถึงผลงานของแบงก์ชาติ ซึ่งส่งผ่านถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์ทั้งประชาชน และกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินและน็อนแบงก์ การทำระบบพร้อมเพย์, QR code, การมี regulatory sandbox สำหรับทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ การมีเครือข่ายป้องกันภัยไซเบอร์ ตั้งคลินิกแก้หนี้ การช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีทำ FX option การปฏิรูปเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

ที่สำคัญ การยืนหยัดต่อนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลายอยู่ที่ระดับ 1.5% ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกรอบด้าน เพื่อเอื้อเศรษฐกิจฟื้นตัว แม้มีแรงเสียดทานจากปัจจัยต่าง ๆ รุมเร้า การพยายามส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ผ่านสื่อ นี่คือสิ่งที่ธปท.ดำเนินการในปี 2560 ภายใต้การบริหารของ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามานั่งเก้าอี้นี้ได้กว่า 1 ปี

“งานที่ธปท.ทำ เป็นสิ่งที่คนโดยรวมจะสัมผัสได้ถึงระบบการเงินที่คล่องขึ้น ระบบจัดการหนี้ที่มีปัญหา ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การร้องเรียนที่มีแนวโน้มลดลง ตัวเลขเบิกเงินสดผ่านเอทีเอ็มที่ไม่เพิ่มขึ้น และเห็นต้นทุนภาคสถาบันการเงินเริ่มลดลง” ดร.วิรไทกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2560 ถือเป็นปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2560-2562) ขณะที่ปี 2561 ดร.วิรไทได้ให้สัญญาณการดำเนินนโยบายว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ธ.ค. เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.9% โดยแรงสำคัญมาจากส่งออกและท่องเที่ยว เนื่องจากเศรษฐกิจทุกประเทศอุตสาหกรรมขยายตัวดีขึ้น อาจเว้นอังกฤษที่มีเรื่องเบร็กซิต ขณะปัจจัยในประเทศอาจยังไม่ค่อยดี ยังมีความเสี่ยงหลายจุด ทั้งกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวจากหนี้ครัวเรือน การบริโภคที่ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการกระตุก แต่ก็วางใจไม่ได้ กนง. จึงยังจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งขึ้น ส่วนที่ว่าเฟดยังมีทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนอาจปรับมาใกล้กับไทย เมื่อดูเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ของพันธบัตรของไทย ก็ยังอยู่ต่ำกว่าสหรัฐมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนข้อกังวลเรื่องเงินไหลออกนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยสร้างกันชนไว้ มีทุนสำรองที่เข้มแข็งกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดังนั้นแม้จะมีเงินไหลออกบ้าง ก็ไม่สร้างความเปราะบางหรือความกังวล ส่วนเงินเฟ้อในโลก หากปรับขึ้นเร็ว ก็ต้องดูผลกระทบต่อไทย หรือดอกเบี้ยนโยบายในโลกปรับขึ้นเร็วจนกระทบต่อ yield curve อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท.ชะล่าใจไม่ได้

“การดำเนินนโยบายแต่ละประเทศ ก็มีวัตถุประสงค์หลักต่างกัน ขึ้นกับเศรษฐกิจและเงื่อนไขที่ต่างกันไป กรณีไทยเศรษฐกิจยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อไม่ได้กดดัน ประกอบกับด้านฐานะต่างประเทศของไทยก็เข้มแข็ง เราไม่ได้พึ่งเงินทุนจากต่างประเทศมาก และไม่ได้มีความเสี่ยงเรื่องเงินทุนไหลออกมากเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ ฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันทีทันใด ในเวลาที่ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักปรับขึ้น”

ดังนั้น การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของไทย ก็ต้องประเมินสถานการณ์และสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

“จาตุรงค์ จันทรังษ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวยอมรับว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในปี 2561 ทำยากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกซับซ้อนขึ้น ซึ่ง 2 เรื่องที่เห็นชัดเจน คือ เงินเฟ้อโลกที่ต่ำ สวนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ส่วนสถาบันการเงินในปีหน้า ดร.วิรไทกล่าวว่า จากปี 2560 ที่เห็นพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด เกิดขึ้นได้เร็ว ก็เพราะความร่วมมือของแบงก์ วันนี้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีการปรับตัว ถือเป็นเรื่องที่ดี และปี 2561 ก็จะเห็นพร้อมเพย์เปิดให้บริการโอนชำระเงินระหว่าง B to C (ธุรกิจกับบุคคล) และ B to B (ธุรกิจกับธุรกิจ) ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริการ ซึ่งปีนี้ก็จะเห็นไอที มาให้บริการแก่ลูกค้า (งานหน้าบ้าน) แต่จริง ๆ สถาบันการเงินกำลังเอาไอทีเข้ามาบริหารความเสี่ยงงานด้านหลังบ้าน ซึ่งจะทำให้บริการลูกค้าเป็นกลุ่ม segment มากขึ้น และมีการคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้สถาบันการเงิน

“ฤชุกร สิริโยธิน” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปี 2561 จะมีทั้งงานพัฒนานวัตกรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การทำตารางเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่มรายย่อยของแบงก์ เช่น สินเชื่อบ้าน เงินฝาก สินเชื่อส่วนบุคคล ให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนขึ้น การต่อยอดพร้อมเพย์ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคาร (bill payment) มี request to pay, QR code บนบัตรเครดิตและบัตรเดบิต การอนุญาตให้แบงก์มี pay-ment agent หลายรูปแบบ ซึ่ง ธปท.เปิดกว้างให้หลายผู้เล่นเข้ามาร่วมได้ ภายใต้หลักการดูเรื่องความเสี่ยง ความปลอดภัย การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์


ปี 2561 คงต้องจับตาว่า ธปท.จะจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน