3 ปรับ SMEs ไทยสู้คู่แข่งปี 2018

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ทุกวันนี้โลกธุรกิจเปลี่ยนไปเร็วมาก ธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ต่างเผชิญความเปลี่ยนแปลงถ้วนหน้า ทั้งเรื่องเทคโนโลยี วงจรสินค้าที่สั้นลง หรือพฤติกรรมผู้บริโภค หากใครมองเห็นและปรับตัวทัน ธุรกิจก็จะอยู่รอดและเติบโต แต่หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน จึงเสียส่วนแบ่งการตลาด หรือไม่ก็ร้ายแรงจนต้องปิดกิจการ เพราะ คู่แข่งปรับตัวก่อนและมีกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์

ลูกค้ามากกว่า ดังนั้น ผมได้สรุปความท้าทายและสิ่งที่ผู้ประกอบการควรปรับตัวมาแชร์ให้ฟัง เพื่อจะได้เตรียมพร้อม ปรับธุรกิจสู้กับคู่แข่งในปี 2018 นี้ครับ

1.นำพร้อมเพย์ และ QR code มาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า และมีความปลอดภัยสูง ผมเริ่มเห็นเจ้าของธุรกิจ SMEs หลาย ๆ รายเริ่มทยอยใช้พร้อมเพย์ และ QR code นะครับ ที่เยาวราชนี่ ร้านอาหาร ร้านขายของใช้บริการนี้แล้ว ในช่วงแรกเป็นการให้บริการนักท่องเที่ยวจีน แต่ตอนนี้คนไทยเองก็เริ่มใช้พร้อมเพย์มากขึ้น และเข้าใจการจ่ายเงินผ่าน QR code เพราะไม่ต้องพกเงินสด แค่มีมือถือเครื่องเดียวก็สามารถซื้อสินค้า บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สำหรับผู้ประกอบการแล้ว พร้อมเพย์ และ QR code ถือเป็นเครื่องรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียม หรือเสียค่าธรรมเนียมน้อยมาก ลดการจัดการเงินสดที่ต้องถือไว้ที่ตัว ทำให้มีความปลอดภัย ลดเวลาเดินทางนำเงินสดไปเข้าบัญชีธนาคาร และหมดปัญหาเรื่องเศษเงินทอน

2.เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค โดยติดตามเทรนด์ตลอดเวลา ตอนนี้ธุรกิจแข่งขันกันที่ความเร็ว เทคโนโลยีทำให้เวลาการตัดสินใจของลูกค้าสั้นลง ราคาสินค้าเปลี่ยนได้ตลอดตามความพอใจของลูกค้า และลูกค้ามีอำนาจมากขึ้นจากการรีวิวสินค้าและบริการ นั่นหมายความว่า การสื่อสารที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขายประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น จะรู้พฤติกรรมลูกค้าได้จากการเก็บข้อมูล ผมมองว่าผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจังจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจตัวเองมาก อย่างเช่น การใช้แอปพลิเคชั่นที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่จ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment ซึ่งข้อมูลที่เก็บจะโชว์ให้เห็นการใช้ชีวิต ความสนใจ และปัจจัยการซื้อสินค้าของลูกค้าได้อย่างละเอียด และจะช่วยให้วางแผนการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การปรับราคาสินค้าตามดีมานด์ในแต่ละฤดูการขาย การบริหารความเสี่ยง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า รวมถึงเพิ่มความประทับใจและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้

3.เตรียมพร้อมปรับรูปแบบการทำงานและพนักงานในองค์กร เทคโนโลยีทำให้การทำงานของคนเปลี่ยนแปลง โดยการทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนักจะถูกแทนด้วยเทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวนะครับ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนา หรือเตรียมพนักงานที่มีทักษะหรือความสามารถทางสังคม (soft skill) เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเน้นตั้งแต่การเลือกพนักงาน และต้องให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพพนักงานให้มากเท่า ๆ กับคุณภาพสินค้า เพราะคุณภาพของพนักงานจะกลับมากลายเป็นความเติบโตขององค์กร


ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการอยู่ตลอด ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง ปรับธุรกิจของตัวเองก่อน อย่ารอให้ปัจจัยอื่น หรือคู่แข่งมาบีบให้เราปรับ ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ทันครับ