กปช.ป้อนข้อมูลลูกค้าขาดประกันเข้า “อินชัวรันซ์บูโร”

กองทุนประกันชีวิต ถก คปภ.-ส.ประกันชีวิต ขอร่วมวงส่งข้อมูลกลุ่ม “ลูกค้าทิ้งกรมธรรม์” ใส่เข้าอินชัวรันซ์บูโรในปี”61 เผยมีบัญชีรายชื่อลูกค้าทิ้งกรมธรรม์นานเกิน 10 ปีกว่า 6 แสนราย

นายสมชาย ดำรงสุนทรชัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต (กปช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทางกองทุนได้มีการหารือร่วมกับ นายสุทธิพล ทวีชัยการ ลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และผู้บริหารในสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อเสนอขอนำบัญชีรายชื่อของลูกค้ากรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความเกิน 10 ปี (ลูกค้าที่ทิ้งกรมธรรม์) จำนวนกว่า 6 แสนราย เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลกลางของศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันภัย ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันชีวิต (insurance bureau system) ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้

สมชาย ดำรงสุนทรชัย

ทั้งนี้ ขณะนี้สำนักงาน คปภ. และสมาคมกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันภัยดังกล่าวอยู่

“เชื่อว่าหากเราเข้าไปอยู่ในอินชัวรันซ์บูโร จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งในแง่ของทุนประกัน จำนวนผู้เอาประกันภัย จำนวนกรมธรรม์พ้นอายุความ และการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะทำให้เห็นตัวเลขอย่างครบถ้วน จากการ 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากขึ้น และคาดว่าภายในปี”61 บัญชีรายชื่อกรมธรรม์ผู้พ้นอายุความจะถูกบรรจุอยู่ในอินชัวรันซ์บูโรแน่นอน”

นอกจากนี้ กองทุนยังขยายแผนการทำงานเพื่อช่วยทำให้ผู้เอาประกันได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากกรมธรรม์มากขึ้น โดยเดินสายอบรมให้ความรู้ผ่านสำนักงาน คปภ. สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) และสาขาบริษัทประกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบประกันภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ ม.นเรศวร ม.พะเยา ม.หาดใหญ่ ม.ราชภัฏเทพสตรี และอยู่ระหว่างพูดคุยอีก 2-3 แห่ง ในการร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเอาประกัน และวิทยาการด้านการเอาประกันภัย เป็นต้น

“เชื่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มอัตราผู้เอาประกันภัยจากเดิมที่มีอยู่เพียง 20% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ในขณะที่บางประเทศมีอัตราผู้เอาประกันภัยสูงถึง 60-80% แล้ว”

นายสมชายกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตทั้ง 23 แห่ง ได้ส่งบัญชีรายชื่อและมูลค่าเงินสดที่ลูกค้าไม่ติดต่อขอรับเงินเกิน 10 ปี โดยมียอดสะสมกว่า 6 แสนราย คิดเป็นเงินราว 600-700 ล้านบาท ในขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุนประกันชีวิตทั้งระบบมีอยู่กว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการเรียกเก็บเงินสมทบจากบริษัทประกันชีวิต 0.10% ต่อปี ซึ่งในปีนี้จะมีรายได้เข้าสู่กองทุนราว 600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 นี้ กปช.มีลูกค้ากรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความระยะเวลาเกิน 10 ปี เข้ามาติดต่อขอเงินคืนผ่านกองทุนประกันชีวิต (Life Insurance Fund) จำนวน 270 ราย มูลค่าราว 2 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน “ลดลง” จากปี 2559 ที่มีลูกค้าติดต่อขอเงินคืนเข้ามากว่า 350 ราย มูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท


ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ลดลงเนื่องมาจากสำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องติดตามหาลูกค้ากรมธรรม์ ซึ่งหากติดต่อลูกค้าดังกล่าวได้ จะสามารถเจรจากับลูกค้าว่าจะส่งค่าเบี้ยของกรมธรรม์ดังกล่าวต่อหรือไม่ เพราะหากลูกค้าไม่ส่งค่าเบี้ยต่อจะถือว่ากรมธรรม์ครบอายุ ทางบริษัทจะต้องส่งเงินคืนของกรมธรรม์ลูกค้ารายดังกล่าวให้แก่กองทุน ส่วนกรณีที่ส่งค่าเบี้ยไม่ครบหรือล่าช้าจะต้องถูกปรับด้วย