ลุ้นจ้างงานสหรัฐ-เงินเฟ้อยุโรป-โฟลว์ไหลเข้า กดเงินบาทขยับแข็งค่า

ธนาคารกลางสหรัฐ-ดอลลาร์
ภาพจาก pexels

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติด “สงครามรัสเซีย-ตัวเลขจ้างงานสหรัฐ-เงินเฟ้อยุโรป-เศรษฐกิจจีน” หนุนตลาดหุ้นเอเชียฟื้น เงินทุนไหลเข้าเก็งค่าเงินบาท

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 30 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2565) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.00-34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเด็นที่ต้องติดตามจะเป็นเรื่องสงครามรัสเซียที่อียูจะมีการประกาศการแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความผันผวนและเห็นค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลต่อเงินบาทขยับแข็งค่าได้

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม โดยในฝั่งสหรัฐจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีถ้อยแถลง ซึ่งส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตลาดได้รับรู้ไปพอสมควรแล้ว รวมถึงมีตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ

ตลอดจนรายงานภาวะเศรษฐกิจในแต่ละสาขา ซึ่งหากตัวเลขออกมาไม่ดี รวมถึงตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (non farm payroll) ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะออกมามากกว่า 3 แสนตำแหน่ง หากตัวเลขน้อยกว่าอาจจะสะท้อนการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งหากออกมาสูงจะเป็นแรงกดดันในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และตัวเลข PMI ของจีน หากออกมาดีจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นจีนและหุ้นเอเชีย

สำหรับทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 23-28 พ.ค. 65 พบว่าตลาดหุ้นมียอดซื้อสุทธิ 6,870 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามบรรยากาศ (Sentiment) ของตลาดที่เริ่มเปิดรับความเสี่ยง ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 20,600 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อบอนด์สั้นประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท

“โฟลว์สัปดาห์หน้าจะเริ่มเห็นแรงเทขายเพื่อ Take Profit บ้างแล้ว แต่ตลาดหุ้นยังมีลุ้นหากเศรษฐกิจดีขึ้น จะส่งผลต่อตลาดเกิดใหม่ EM มีเงินไหลเข้าสุทธิได้ ซึ่งจะช่วยกดดันบาทแข็งค่าได้ ซึ่งระหว่างสัปดาห์อาจเห็นเงินบาทลงมาเทสต์แข็งค่าในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษต เดือน พ.ค.ของสหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่า +3.3 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้เงินดอลลาร์อาจปรับฐานลงต่อเนื่องหากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐบ่งชี้ถึงการสูญเสียแรงส่งเชิงบวก ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อระดับคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบอนด์ยีลด์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี อาจต้องระวังกระแสเงินร้อน (เงินเข้ามาพักในบอนด์ระยะสั้น) ซึ่งมีลักษณะเข้า-ออกเร็ว และสร้างความผันผวนให้กับค่าเงิน รวมถึงส่วนราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นยังเป็นปัจจัยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท


“มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินบาทในระยะนี้ ท่ามกลางการย่อตัวของดอลลาร์ในตลาดโลก และความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า”