“ตาย-เจ็บ” ระนาว! ประเดิมวันแรกช่วง 7 วันอันตรายรับปีจอ คปภ.เร่งสั่งการบริษัทประกันจ่ายสินไหม

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า รายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์บน Platform การรายงานข้อมูลอุบัติภัยในครั้งนี้ ทำให้ คปภ. สามารถกำกับติดตามให้บริษัทประกันภัยรายงานกรณีเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ และติดตามเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์และผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ได้อย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้จากการเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เวลา 15.20 น. กรณีเกิดอุบัติเหตุบริเวณถนนบ้านรุง-กันทรลักษ์ (บ้านสมบูรณ์) ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ รถยนต์หมายเลขทะเบียน บพ 5133 ศรีสะเกษ เฉี่ยวชนกับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บร 5303 ศรีสะเกษ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลผ่าน Platform ทำให้ คปภ.สามารถทราบได้ทันทีว่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน บพ 5133 ศรีสะเกษ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ 86200922-17 NBK ไว้กับ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย โดยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2560 สิ้นสุดความคุ้มครอง 19 มิถุนายน 2561 ส่วนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บร 5303 ศรีสะเกษ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ CHR60-0046119-0 ไว้กับ บมจ.จรัญประกันภัย โดยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 สิ้นสุดความคุ้มครอง 27 พฤษภาคม 2561

นอกจากนี้ยังเกิดอุบัติเหตุกลุ่มหรือรายใหญ่ บริเวณถนนสาย 24 กิโลเมตรที่ 17-18 บ้านสระเพลง ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา รถยนต์หมายเลขทะเบียน นบ 30-1677 เสียหลักลื่นไถลลงข้างทาง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 30 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าว ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ 02381-60113/กธ/9693020 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2560 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และมีกรมธรรม์การประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 เมษายน 2560 สิ้นสุดการคุ้มครอง 30 เมษายน 2561 ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย

“ได้สั่งการไปยังบริษัทประกันภัยให้เร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุและทายาทอย่างเร่งด่วนแล้วโดยจะช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงานด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมทั้งกำชับให้ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) สำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งใช้ระบบประกันภัยเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด” ดร.สุทธิพลกล่าว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับสถิติอุบัติเหตุตลอดวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ช่วง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุ 477 ครั้ง ลดลงจากปีก่อน 42 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดมหาสารคราม โดยมีผู้เสียชีวิต 41 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากปีก่อน 1 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ จังหวัดศีรษะเกษ 6 ราย รองลงมาจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย สงขลา 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย สุโขทัย 2 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย หนองคาย 2 ราย และอุบลราชธานี 2 ราย ในส่วนของผู้บาดเจ็บจำนวน 500 ราย ลดลง 60 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมา จังหวัดมหาสารคราม และนครศรีธรรมราช สำหรับสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุคือ เมาสุรา 42.77% ขับรถเร็ว 26.00 % ตัดหน้ากระชั้นชิด 14.68 % ทัศนวิสัยไม่ดี 15.51 %