โบรกส่องหุ้น”รุ่ง-ร่วง”ปี2561 ลุ้นดัชนีทำสถิติใหม่1800จุด

โบรกฯส่องภาวะตลาดหุ้นปี 2561 ลุ้นดัชนีทำสถิติสูงสุดใหม่ทะลุ 1,800 จุด เผยปัจจัยบวกทั้ง ศก.ภายในและภายนอกอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดกำไร บจ.ปีจอแตะ 1.11 ล้านล้าน โตกว่า 14% จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลกลับเข้าไทย หลังลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี บล.ทรีนีตี้เตือนความเสี่ยงการเมืองโลกเขย่าตลาด บล.เอเซีย พลัสส่อง TOP 5 “หุ้นรุ่ง-ร่วง” ปีจอ

หลังภาวะตลาดหุ้นไทยปี 2560 สร้างปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 200 จุด เป็นการยืนเหนือระดับ 1,700 จุด ครั้งแรกในรอบ 24 ปี และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายประเมินว่าปี 2561 จะได้เห็นดัชนีหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดใหม่ (all-time high) จากที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดมาที่ระดับ 1,789.16 จุด เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2537

โบรกฯมองบวกดัชนีทะลุ 1,800

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2561 ยังปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยประเมินดัชนีเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 1,815 จุด ถือเป็นการทำ all-time high เพราะมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะขยายตัวได้ในระดับ 4.2% เทียบกับ 3.8% ของปี 2560 ซึ่งรับแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2560 ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงกลางปี 2561 และคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯของปี 2561 จะอยู่ที่ราว 1.11 ล้านล้านบาท จากปี 2560 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิราว 9.75 แสนล้านบาท หรืออัตราเติบโต 14.5% ซึ่งคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ราว 113.57 บาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 99.05 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามามากขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปี 2561 ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มสื่อ-บันเทิง เป็นต้น

Top 5 หุ้นรุ่ง-ร่วง ปี 2561

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า สำหรับกลุ่มหุ้นรุ่ง-หุ้นร่วง 5 อันดับแรกของปี 2561 ที่ประเมินจากคาดการณ์กำไรสุทธิของ บจ. ที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มีบทวิเคราะห์ครอบคลุม พบว่าหุ้นที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตโดดเด่น 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) 2.บมจ.ไทยคม (THCOM) 3.บมจ.อาร์เอส (RS) 4.บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) และ 5.บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL)

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิปรับตัวลดลงมากสุด 5 อันดับแรกคือ 1.บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 2.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 3.บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 4.บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) และ 5.บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL)

โดยในส่วนของดีแทค เนื่องจากคาดว่าปี 2561 จะมีการลงทุนและการจ่ายผลตอบแทนสัญญาพันธมิตรคลื่น 2300 MHz กับ บมจ.ทีโอที ที่คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มปีละประมาณ 4,500 ล้านบาท ทำให้จากที่มีกำไรสุทธิ 1,960 ล้านบาท จะกลายเป็นขาดทุน 957 ล้านบาทในปี 2561 ขณะที่ตัวอื่น ๆ ที่มีผลประกอบการลดลงก็เพราะปีที่ผ่านมามีการบันทึกกำไรพิเศษ เช่น ไทยออยล์มีการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่น้ำตาลขอนแก่นก็มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการประเมินราคาที่ดิน รวมทั้งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นให้พันธมิตรต่างประเทศ เป็นต้น

เตรียมรับเงินต่างชาติทะลัก

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า มองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2561 จะมีการทำสถิติใหม่สูงสุดที่ระดับ 1,851 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภายในและภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 4% ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอยู่ระดับต่ำ ทำให้แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย และคาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ซึ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นตัวดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าประเทศ ผลักดันการจ้างงานและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายนอก เชื่อว่าสภาพคล่องระบบการเงินโลกยังอยู่ระดับสูง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลลง แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ธนาคารยุโรปและญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง อย่างน้อยจะถึงเดือน ก.ย.ปีหน้า และการที่ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบทำให้นักลงทุนสนใจตราสารทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้

เตือนความเสี่ยงการเมืองโลก

ดร.วิศิษฐ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การเมือง ทั้งความขัดแย้งเกาหลีเหนือ ความขัดแย้งที่กรุงเยรูซาเลม ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ความเสี่ยงต่อการล่มสลายของธนาคารเงา และระบบสถาบันการเงินในจีน รวมถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในยุโรปจากฝ่ายชาตินิยมขวาจัด

โดยเฉพาะในอิตาลี ที่แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่จะส่งผลกระทบที่รุนแรง เนื่องจากประเมินว่าขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมการรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมากนัก สะท้อนจากดัชนีชี้วัดความผันผวนและความเสี่ยง (VIX index) ที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

“กลยุทธ์การลงทุนในปี 2561 ต้องเลือกลงทุนเป็นรายบริษัทมากขึ้น และกลุ่มที่มีกระแสเงินสดระดับสูง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมน่าสนใจ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง รองลงมาคือ กลุ่มสื่อสาร, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มการแพทย์ ที่คาดว่าจะโดดเด่น ในปีที่มีการเลือกตั้ง เพราะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ” ดร.วิศิษฐ์กล่าว

ตลาดหุ้นขาขึ้นแบบผันผวน

ขณะที่นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวว่า มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2561 อยู่ที่ 1,850-1,900 จุด เชื่อว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจแต่ละประเทศฟื้นตัวดีพร้อม ๆ กัน แต่ลักษณะการปรับขึ้นจะเป็นแบบผันผวนกว่าปี 2560 เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ

ปัจจัยบวกของหุ้นไทยปี 2561 จะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโต 4.1% ขณะที่ภาครัฐเตรียมลงทุนมากถึง 2.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัวจากปี 2560 ที่ลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบกับนักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นไทยน้อยต่ำสุดรอบ 10 ปี (5 ปีที่ผ่านมาขายสุทธิสะสมกว่า 3.4 แสนล้านบาท)

“หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจในปี 2561 มองว่าหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ โดยมีหุ้นเด่นคือ SCC, SEAFCO, PYLON, STEC, UNIQ, CK ขณะที่หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลบวกจากร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … เริ่มบังคับใช้ โดยมีหุ้นที่น่าสนใจคือ AMATA, WHA, ROJNA นอกจากนี้ยังมีหุ้นกลุ่มพลังงานและพลังงานทางเลือก ปิโตรเคมี ที่น่าสนใจคือ PTTGC, IRPC, BCPG, GPSC, TPIPP เป็นต้น” นายวิวัฒน์กล่าว