ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานดีเกินคาด

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานเดือนพ.ค. ดีเกินคาด หนุนเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.325-34.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 34.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 34.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 325,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.5%

ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่ตึงตัว เป็นปัจจัยหนุนให้ทางเฟดสามารถดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม

นอกจากนี้ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวในการประชุมโดยสภาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจฟิลาเดลเฟียว่า เธอไม่สนับสนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนและเตือนว่าอัตราการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเร็วขึ้นหรือช้าลงนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปนั้น ขึ้นอยู่กับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ

โดยในขณะนี้นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมในวันศุกร์ (10/6) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนเมษายน ที่ขยายตัว 8.3%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 106.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และเพิ่มขึ้น 1.40% จากเดือน เม.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.325-34.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (6/6) ที่ระดับ 1.0720/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 1.0687/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ โดย ECB จะประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน และจะส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย

ทั้งนี้ นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB และนายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ECB อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.25% จากระดับ -0.5% ในเดือน ก.ค. และ ก.ย.ปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0710-1.0751 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0744/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 130.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 129.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับ BOJ ในเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.43-130.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือน พ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ตัวเลขการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ของจีน และดัชนี PMI ภาคบริการเดือน พ.ค.ของจีนและอังกฤษด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.7/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.25/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ