ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ดาวเด่นในปี 2018

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย ทิสโก้ เวลธ์

ในสภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเป็นขาขึ้นร่วมด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากทางฝั่งยุโรป (โดยการลดเม็ดเงินอัดฉีด) อย่างที่นักลงทุนหลายท่านทราบกันดีแล้ว ภาวะเช่นนี้ทำให้นักลงทุนหลายท่านกังวลว่าค่าเงินของกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (EM) ทั้งหลายคงจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงิน USD เนื่องจากดอกเบี้ยที่เริ่มสูงขึ้นของสหรัฐทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจาก EM

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปในทุกตลาด ดังจะได้เห็นตัวอย่างหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อปลายปี 2015 ของสหรัฐที่ผ่านมาค่าเงินของ EM บางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม north Asia อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย กลับมีทิศทางแข็งค่าขึ้นสวนทางกับ logic ที่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐควรจะทำให้ค่าเงินของประเทศฝั่ง EM อ่อนค่าลงเพราะการไหลออกของเงินทุน

โดยสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินของ EM สกุลดังกล่าวแข็งค่าขึ้น เบื้องต้นมาจากปัจจัยดังนี้ 1) ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่อาจไม่เร็วตามความคาดหมาย โดยก่อนที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐครั้งแรกในปลายปี 2015 ค่าเงินของกลุ่ม EM ได้อ่อนค่าลงมารอก่อนหน้านั้นไปพอสมควรแล้ว เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยจริง ๆ ก็เริ่มเกิดการ buy on fact และทั้งนี้การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปี 2016 ก็ไม่เร็วตามตลาดคาด เงินทุนจึงเริ่มไหลกลับมาตลาด EM ที่มีเสถียรภาพด้านค่าเงิน 2) เสถียรภาพของค่าเงินในบางตลาด EM เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ๆ เช่น ไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ 3) การส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน แม้กระทั่งไทย (ตามภาพ)

สำหรับประเด็นการส่งออก 3 เศรษฐกิจนี้ มีสินค้าส่งออกที่มีความแตกต่างในเชิงของคุณภาพที่ยากจะหาสินค้าทดแทน ถึงแม้ค่าเงินของ 3 เศรษฐกิจที่กล่าวมาจะเริ่มแข็งค่าขึ้นแล้วก็ตาม แต่การเติบโตของการส่งออกยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ไต้หวัน เริ่มฟื้นตัวขึ้นไปในลักษณะเดียวกับกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีฝั่งจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเขียนถึงเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีนที่นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นเห็นได้จากราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนได้ปรับขึ้นมาอย่างมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สินค้าส่งออกของเกาหลีใต้และไต้หวันนั้น มักจะเป็นสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง

เรียกได้ว่าทัดเทียมชาติตะวันตกและญี่ปุ่นเลยทีเดียว ส่วนประเทศไทยนั้นท่านผู้อ่านหลายท่านอาจมองว่าสินค้าส่งออกของไทยมิอาจเทียบเคียงกับสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งเป็นสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงและมีลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง ส่วนไทยถึงแม้เราจะส่งออกสินค้าที่มีเทคโนโลยี อย่างรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็เป็นการรับจ้างผลิตเสียส่วนใหญ่ มีสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ไทยจริงค่อนข้างน้อย แต่หากพิจารณาดี ๆ อันที่จริงประเทศไทยของเราก็มีการส่งออกระดับ 4.0 (ที่มีความเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ ทดแทนกันได้ยาก) ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวนั้นเอง เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลุเป้า แม้ภาวะที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น (เงินบาทแพงขึ้น ในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยกลับมากขึ้นทุกเดือน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเริ่มเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเพราะความมีเอกลักษณ์ ความสวยงามของธรรมชาติ ไปจนถึงรสชาติอาหารที่เลื่องชื่อ

และเพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตามก็ได้ครับว่าในรอบปีที่ผ่านมา ท่านใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวมากกว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย อื่น ๆ ก็เป็นได้ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยก็ยังมีแน้วโน้มจะเพิ่มขึ้น ล้อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เมื่อมองภาพการลงทุนสำหรับปี 2561 แล้ว ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และไต้หวัน ปรับขึ้นมาน้อยกว่า หุ้นจีนเทคโนโลยีจีน (new economy) แต่ด้วยราคาต่ออัตราการทำกำไร (P/E ratio) ที่น้อยกว่าจึงมีความน่าสนใจ โดยกลุ่ม MSCI China Forward P/E 13.5 เท่า ไต้หวัน 13.5 เท่า เกาหลีใต้ 8.6 เท่า (forward P/E ณ 30 พ.ย. 2560) นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้เริ่มเปลี่ยนนโยบายการจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และไต้หวัน จึงเป็น 2 ตลาดในกลุ่มเอเชียเหนือ ที่น่าสนใจที่สุดในบรรดาตลาดเกิดใหม่ ส่วนประเทศไทยค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพและหุ้นใหญ่บางกลุ่มที่ราคายังไม่สูงนักแถมความเสี่ยงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำ ตลาดหุ้นไทยจึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตา


ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ผิดกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ และราคาหุ้นที่ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ การส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ผู้เขียนและทีม wealth manager จึงแนะนำให้จับตาและหาจังหวะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ไต้หวัน (กลุ่ม north Asia ไม่รวมญี่ปุ่น) และไทย