ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค จับตาประชุม กนง.วันพุธที่ 8 มิ.ย.นี้

เงินบาท

ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค จับตาประชุม กนง.วันพุธที่ 8 มิ.ย.นี้ หลังเงินเฟ้อในประเทศพุ่ง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 4-5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 34.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 34.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.032% ก่อนการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.182% ในคืนที่ผ่านมา

นักลงทุนยังคงกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อและตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐจะผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือน ก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนติดตามการประชุม กนง.ในวันพุธนี้ (8/6) โดยมุ่งเน้นไปยังการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย กรอบเงินเฟ้อและการประมาณการทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวขึ้น 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ในเดือนพฤษภาคม สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยูในกรอบระหว่าง 34.425-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.45/4 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (7/6) ที่ระดับ 1.0675/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 1.0741/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0666-1.0704 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0686/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 132.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 130.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกับสหรัฐจะทิ้งช่วงห่างมากขึ้น

นอกจากนี้กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลง 1.7% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่สอง เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงานได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.87-133.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือน พ.ค. (31/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อชิคาโกเดือน พ.ค. (31/5), การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน พ.ค. จากเอดีพี (1/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐ เดือน พ.ค. (1/6), การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. (2/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ