เงินเอเชียร่วง เยน – รูปี อ่อนค่าทุบสถิติ ตลาดกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

่ค่าเงิน เยน ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยน
Photo by Behrouz MEHRI / AFP

ค่าเงินเยนวันนี้ อ่อนค่าลงอีก 0.5% ต่ำสุดในรอบ 24 ปี ส่วนเงินรูปี อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ มาอยู่ที่ 78.2825 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดกังวลทิศทางการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี พาเงินสกุลเอเชีย อ่อนค่ายกแผง

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 บลูมเบิร์ก รายงานข่าวเรื่อง เงินเยนอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 หรือ ในรอบ 24 ปี เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ในรายงานข่าวระบุว่า ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากกว่า 0.5% มาอยู่ที่ 135.19 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 (Treasury Bill) เพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุด ในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่ 8.6%

ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงต่อเนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุด เงินเยนอ่อนค่ามาแล้วเกือบ 15% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เหตุจาก BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา

ขณะที่ ตลาดพันธบัตรสหรัฐ เดิมพันด้วยผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูเงินเงินเฟ้อที่ขยายตัวขึ้นเกินคาด และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่น เคยส่งคำเตือนเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินเยนมาก่อนหน้านี้ โดยออกเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อย้ำว่า พวกเขาพยายามหาทางที่จะรักษาระดับค่าเงินให้อยู่ในระดับพื้นฐาน

เนื่องจากคาดการณ์ผลกระทบจากค่าเงินเยนอ่อนที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจหลายด้าน เช่น ความเสียหายต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชน แม้ว่าค่าเงินสกุลในประเทศอ่อนค่าจะสนับสนุนการส่งออก แต่ก็จะส่งแรงกดดันต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก

คาด BOJ ไม่ปรับนโยบายการเงิน ถ้าเยนไม่อ่อนต่ำกว่า 140 เยน

อากิระ โมโรกะ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ค่าเงิน Aozora ในโตเกียวกล่าวว่า สถานการณ์ใกล้สุกงอมมากแล้ว สำหรับนักเก็งกำไรที่ต้องการดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้แข็งค่าเพิ่มขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ โดยบลูมเบิร์ก พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังไม่ปรับนโยบายการเงิน จนกว่าค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐจะทะลุระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินเยนอยู่ท่ามกลางแรงกดดันให้อ่อนค่าลงอีก เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น ค่าเงินยูโร และดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าทำระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี เมื่อต้น มิ.ย. นี้ หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเริ่มพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากดำเนินนโยบายดอกเบี้ยใกล้ศูนย์มาหลายปี

เงินรูปี อินเดีย อ่อนค่าทุบสถิติ

รายงานข่าวอีกชิ้นของบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า วันนี้ (13 มิ.ย.2565) เงินรูปีร่วงทำสถิติใหม่ สู่ระดับอ่อนค่าสุดในประวัติการณ์ มาอยู่ที่ 78.2825 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับดัชนีตลาดหุ้นในอินเดียลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เ

เป็นผลต่อเนื่องจากการคาดการณ์ของนักลงทุนทั่วโลกเพื่อปิดความเสี่ยง หลังจากสหรัฐฯ ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. และทำให้คาดการณ์ว่า เฟดน่าจะมีนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เงินรูปีอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ แล้ว 0.6% ที่ระดับ 78.2825 ต่อดอลลาร์ในวันนี้ (13 มิ.ย.) หลังจากที่แตะระดับต่ำสุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนดัชนี S&P BSE Sensex ของ S&P ลดลงประมาณ 2.8% เนื่องจากชาวต่างชาติถอนเงินออกจากหุ้นอินเดียประมาณ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ส่วนราคาพันธบัตรในประเทศก็ยังลดลง

พร้อมกันนี้ อินเดียยังเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินภาคต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอินเดีย ยืนยันว่ายังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีการปรับใช้เพื่อควบคุมความผันผวนของค่าเงินที่รุนแรงได้

ค่าเงิน รูปี อินเดีย
Photo by INDRANIL MUKHERJEE / AFP

สกุลเงินเอเชียเทียบดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ายกแผง

รายงานข่าวจาก marketwatch ระบุว่า ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าของวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ในตลาดซื้อขายในเอเชีย ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ในเดือนพฤษภาคม

คาร์มาน ลี นักวิเคราะห์จาก MUFG Bank กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นราชา

และจากการที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ มาอยู่ที่ระดับ 8.6% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้าว่า จะชะลอตัว นับเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วมาก

ตามข้อมูลของ FactSet พบว่า เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.2% ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในเอเชีย อ่อนค่า เช่น สิงคโปร์ อยู่ที่ 1.3906 ดอลลาร์สิงคโปร์/ดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีบ อยู่ที่ 4.4135 ริงกิตมาเลเซีย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดระหว่างวันนับตั้งแต่มีนาคม 2563