คุยกับ สาระ ล่ำซำ “ประกันชีวิต” ปรับตัวรับดอกเบี้ยขาขึ้น

สาระ ล่ำซำ
สาระ ล่ำซำ
สัมภาษณ์พิเศษ

 

อุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยในปี 2565 นี้ ผ่านโค้งแรกไปด้วยตัวเลขเบี้ยรับรวมที่อาจจะดูไม่ค่อยสวยนัก โดยในไตรมาสแรกยอดเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 150,427.3 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2565 ก็ยังคงเป็นภาพการติดลบ คือมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 191,187 ล้านบาท ลดลง 2.21% ซึ่งผลกระทบจะเกิดจากอะไรนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “สาระ ล่ำซำ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย มาสะท้อนภาพดังกล่าว

ปรับแบบประกันฉุดเบี้ยติดลบ

โดย “สาระ” กล่าวว่า การติดลบของธุรกิจประกันชีวิตโดยรวม ยังมาจากการปรับเปลี่ยนแบบประกันที่ขาย จากรูปแบบ “สะสมทรัพย์” มาเน้น “ความคุ้มครองชีวิต” เนื่องจากเป็นโปรดักต์ที่มีความอ่อนไหว (sensitive) กับเรื่องดอกเบี้ยน้อยกว่าแบบ “สะสมทรัพย์” แต่เบี้ยก็มีขนาด (ไซซ์) เล็กลงหลายเท่า

ขณะเดียวกัน พอร์ตเบี้ยประกันต่ออายุของหลาย ๆ บริษัท จะมีกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยครบแล้ว แต่ยังคงความคุ้มครองอยู่ต่อไป (paid-up policy) และกรมธรรม์ที่ครบกำหนด (maturity policy) หายไป ส่งผลให้พอร์ตเบี้ยติดลบ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ยังไม่ได้สะท้อนในมุมของเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน จนต้องขาดต่ออายุ และขอยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด

Yield Curve กระทบทั้งขึ้นทั้งลง

“สาระ” อธิบายว่า ธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างมีความอ่อนไหวกับเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (yield curve) ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลักของธุรกิจที่ตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ ทั้งนี้ ไม่ว่า yield curve จะปรับตัว “ขึ้นหรือลง” ก็จะมีผลกระทบทั้งสองด้านต่อบริษัทประกันชีวิต ที่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องกลับมาพิจารณาแบบประกันว่าเป็นอย่างไร และแบบประกันใหม่ ๆ ที่จะวางขายในตลาดหน้าตาออกมาจะเป็นอย่างไรด้วย

“ตอนนี้เราเห็นเทรนด์การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ สืบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบอนด์ยีลด์ระยะยาว ต่างจากในยุค 4-5 ปีก่อน yield curve เป็นเทรนด์ขาลง ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาปรับเปลี่ยนแบบประกัน จากที่ขายสะสมทรัพย์กันมาก ๆ ก็เริ่มขายความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ทั้งประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา และส่วนควบสุขภาพ สะท้อนจากในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา จะเห็นภาพการติดลบของธุรกิจประกันชีวิต”

ปรับตัวบริหารต้นทุน

โดยท่ามกลางต้นทุนธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้นั้น “สาระ” กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตมีการบริหารต้นทุนอยู่ตลอดเวลา ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากผลกระทบโควิด-19 มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีการปรับให้พนักงานทำงานที่บ้าน (FWH) ในช่วง 2 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือ เป็นการปรับวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งช่วยทำให้ต้นทุนหลาย ๆ อย่างหายไป หรือลดน้อยลงไปได้

“แม้ขณะนี้สถานการณ์โลกอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ทิศทางการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตไม่ได้ชะลอลง เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เราต้องลงทุนเพื่อแมตชิ่งผลตอบแทนตามสัญญาของแบบประกันที่ขายใหม่ ซึ่งพอร์ตลงทุนโดยรวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท สัดส่วนกว่า 90% ยังลงทุนอยู่ในตราสารหนี้เป็นหลัก”

สภาพคล่องมีพร้อมลงทุน

“นายกสมาคมประกันชีวิตไทย” กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงทุนในรูปแบบของการขยายกิจการอื่น ๆ เช่น ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี หรือธุรกิจเฮลท์แคร์นั้น ตอนนี้กฎหมายเปิดช่องให้ลงทุนได้แล้ว ซึ่งในภาวะแบบนี้บริษัทประกันชีวิตลงทุนได้ ไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง เพราะธุรกิจยังมีกระแสเงินสด (cash flow) ในระดับที่สูงเป็นปกติ

“เราอาจจะต้องเลือกลงทุน หากมองเป็นโอกาสที่เหมาะสม ก็คงเข้าไปลงทุน ซึ่งตอนนี้ที่เห็นการเข้าไปลงทุนซื้อธุรกิจประกันในต่างประเทศยังทำได้” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว