ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจปรับตัวดีเกินคาด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ32.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 32.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรายงานบันทึกผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันแนวทางการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมาดีกว่าคาด โดยในการประชุมเฟดซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 2560 นั้น ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 สำหรับการประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ม.ค. ขณะที่ CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ Fed Watch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่านักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 56.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 1.257 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนตุลาคม และผลการสำรวจของ CoreLogic พบว่า ราคาบ้านในสหรัฐพุ่งขึ้น 7% ในเดือน พ.ย. โดยเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราดังกล่าวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว CoreLogic ระบุว่า ราคาบ้านได้รับแรงหนุนจากการที่สต็อกบ้านอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อุปสงค์อยู่ในระดับสูง และคาดว่าปัจจัยทั้ง 2 จะยังไม่ชะลอตัวลงในเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายสู้ระดับ 32.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 79.2 จาก 78.0 ในเดือนพฤศจิกายน โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 35 เดือน นอกจากนี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะเติบโตใกล้เคียงระดับ 5% จากปัจจัยหลายด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว รวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 101.37 ซึ่งขยายตัว 0.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.08% จากเดือน พ.ย. 60 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 60 ขยายตัว 0.66% และในส่วนของ Core CPI เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ 101.61 ขยายตัว 0.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.02% จากเดือน พ.ย. 60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 60 ขยายตัว 0.56% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.22-32.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรับ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (4/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.201/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 1.2035/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากนักลงทุนมีการเข้าซื้อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากผลรายงานการประชุมเฟดและข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวดีเกินคาด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1200-1.2038 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.12032/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (4/1) เปิดตลาดที่ระดับ 112.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (3/1) ที่ระดับ 112.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนมีการเข้าซื้อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากผลรายงานการประชุมเฟดและข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวดีเกินคาด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.49-112.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (4/1) ตัวเลข ADP Employment (4/1) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (5/1) และอัตราการว่างงาน (5/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.0/-5.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ