
แบงก์-ภาคธุรกิจ มองยกเลิกกฎหมายความผิดจากการใช้เช็ค “MTC” ชี้ช่วยปรับโทษหนักเป็นเบา จาก “อาญา” เป็น “แพ่ง” เรียกค่าเสียหายแทน ช่วยผู้ประกอบการหมุนเวียนเงินไม่ทันในภาวะต้นทุนแพง ด้าน “กรุงเทพ” เผยธนาคารรับซื้อเช็คส่วนลด-ลูกค้าใช้เช็คน้อยลงหันโอนเงินแทน ยันไม่มีผลต่อสถาบันการเงิน
วันที่ 25 มิถุนายน 2565 ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้เช็คในการทำธุรกรรม และกำหนดให้การใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- ผู้ซื้อญี่ปุ่นเซ็นแล้ว 5,000 ตัน นำเข้ากล้วยอีสาน ได้เม็ดเงินทันที 100 ล้านบาท
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
โดยกำหนดความผิดสำหรับการใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประกอบกับปัจจุบันระบบการชำระเงินของประเทศได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต และระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมจึงเสนอยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
จากประเด็นดังกล่าว นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวในแง่ของสถาบันการเงินไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่ธนาคารไม่ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดทางอาญากับลูกค้าที่ใช้เช็คอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเรียกร้องในทางแพ่งอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลต่อการยกเลิกกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันหลายธนาคารทำธุรกรรมรับซื้อเช็คส่วนลดน้อยลงอยู่แล้ว เช่น ลูกค้านำเช็คมาขายส่วนลดให้ธนาคารก่อนวันกำหนดชำระเงิน 60-90 วัน โดยธนาคารจะให้วงเงินไปก่อน ซึ่งปัจจุบันธุรกรรมในลักษณะนี้น้อยลง โดยมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.ปริมาณลูกค้าหรือธุรกิจใช้เช็คน้อยลง ซึ่งลูกค้ารายใหญ่หันไปใช้การโอนเงินแทน จะเหลือลูกค้ารายกลางที่ใช้อยู่ แต่ก็ในปริมาณที่ลดลงจากในอดีต
และ 2.ขั้นตอนกระบวนการรับซื้อเช็คส่วนลดค่อนข้างยุ่งยาก และมีต้นทุนสูงไม่คุ้ม ประกอบกับปัจจุบันมีเรื่องของการปล่อยสินเชื่อบน Supply chain finance เข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้น ทำให้ธุรกรรมใช้เช็คน้อยลง
“คิดว่าการยกเลิกกฎหมายเช็ค เนื่องจากต้องการให้โทษไม่ได้หนักมากถึงขั้นเข้าคุก แต่เป็นการผิดทางแพ่ง ซึ่งสามารถไปไล่บี้และนำทรัพย์มาชดใช้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายจึงไม่อยากให้ฟ้องร้องถึงอาญา ซึ่งในส่วนของธนาคารไม่มีผลอยู่แล้ว เพราะทำธุรกรรมเช็คน้อยลงมาก”
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เป็นการผ่อนโทษหนักเป็นเบา เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้โอกาสที่เช็คมีเงินไม่พอจ่าย หรือ เช็คเด้ง มีปริมาณสูงขึ้นได้
ดังนั้น เชื่อว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำมาค้าขายหรือประกอบธุรกิจภายใต้ต้นทุนการเงิน และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องและมีเงินไปพอจ่าย ซึ่งไม่ได้มีเจตนาจะฉ้อโกงแต่อย่างใด จึงมีการลดโทษจากอาญาหรือการติดคุก มาเป็น ความผิดทางแพ่ง ซึ่งสามารถตกลงชดใช้กันได้
“เศรษฐกิจช่วยนี้โอกาสที่เช็คจะเด้งสูง แต่ภาครัฐคงช่วยผ่อนหนักเป็นเบา จากโทษอาญาติดคุกเป็นการเรียกให้ชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่อาจจะติดขัดหมุนเงินไม่ทันได้มีโทษที่ลดลง”