เงินบาทอ่อนค่า 35.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตาแถลงประธานอีซีบี

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 35.25-35.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลง “ประธานอีซีบี-เจ้าหน้าเฟด” ลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อ-ดัชนีความเชื่อมั่น คาดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิ ตามนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ

วันที่ 26 มิถุนายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.25-35.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นางคริสติน ลาการ์ด รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยจะดูทิศทางหากตัวเลขออกมาดี แต่เงินเฟ้อยังสูงจะเป็นแรงกดดันได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนฝั่งของสหรัฐยังคงต้องติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเจ้าหน้าที่เฟดที่จะมีมุมมองต่อนโยบายการเงิน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี ตลาดรับรู้ผ่านตัวเลข CPI ไปก่อนหน้าแล้ว แต่อาจจะต้องดูสัญญาณเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ติดตามตัวเลขดัชนี PMI ของจีน ซึ่งเป็นตัวที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินหยวนและเงินบาทค่อนข้างสูงถึง 70% และมีผลต่อค่าเงินในเอเชียอีกด้วย ซึ่งหากเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

“เราต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจของอียู และถ้อยแถลงของประธานอีซีบี ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเงินบาทจะไม่ทะลุกรอบบน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากมีโฟลว์ของทองคำเข้ามาช่วยพยุงไว้ โดยจะเห็นโฟลว์เข้ามาซื้อทองคำที่ย่อตัวในระดับ 1,800-1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นตัวดันไว้อยู่”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นนักลงทุนขายสุทธิอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท

โดยภายในสัปดาห์หน้า ประเมินว่า หุ้นยังมีแรงขายบ้าง แต่ไม่น่าจะถึงระดับหมื่นล้านบาท แต่อาจจะแตะขายสุทธิราว 5 พันล้านบาทได้ เนื่องจาก SET Index ลงมาค่อนข้างเยอะแล้ว แตะแนวรับอยู่ ไม่น่าจะขายเพิ่ม ส่วนบอนด์ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) เริ่มนิ่ง ขณะที่ไทยก็คงไม่มีขายเยอะมาก อาจจะมีขายทำกำไร (Take Profit) บ้าง น่าจะขายสุทธิไม่ถึง 5 พันล้านบาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 35.25-35.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตาม ราคาน้ำมัน ค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนพฤษภาคมและดัชนี ISM ภาคการผลิต เดือนมิถุนายนของสหรัฐ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤษภาคมของไทย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง แต่ยังคงสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินภูมิภาคจากกระแสเงินทุนไหลออก ขณะที่สหรัฐเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย คุมเงินเฟ้อ อีกทั้งการลดขนาดงบดุลของเฟด กดดันสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ผ่านภาวะตลาดการเงินตึงตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้จะย่อตัวลงแต่สะท้อนความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและอาจกระทบการส่งออกของประเทศในภูมิภาคนี้ได้ในระยะข้างหน้า