SCB โอดมาตรฐานบัญชี IFRS9 กระทบ “รับรู้รายได้-ตั้งสำรอง”

ธนาคารไทยพาณิชย์โอดมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 เข้ม บีบแบงก์ต้องตั้งสำรองเผื่อกลุ่มลูกหนี้ SM เพิ่มขึ้น ชี้บางกรณีอาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100% เหมือนลูกหนี้เป็น NPL แล้ว แถมระบบการรับรู้รายได้ “ดอกเบี้ย-ค่าฟี” กระทบการจ่ายภาษี แนะแบงก์ชาติเร่งสร้างความชัดเจนก่อนบังคับใช้จริงปี’62

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief financial officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารได้เตรียมพร้อมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS9) แล้ว โดยเฉพาะการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองถึง 100% เต็ม ในกรณีหากธนาคารเห็นว่าลูกค้าบางรายที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ สำหรับในปี 2560 นี้ ในไตรมาส 3-4 ธนาคารได้ตั้งสำรองแล้วรวม 5,000 ล้านบาท

กิตติยา โตธนะเกษม

“IFRS9 ทำให้แบงก์ต้องปรับตัวหลายด้าน โดยเฉพาะการตั้งสำรองจากการปล่อยสินเชื่อ ในกลุ่มลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ที่เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องมีการสำรองส่วนเผื่อ กรณีที่แบงก์มองเห็นว่าลูกหนี้สถานะเปลี่ยนไป เช่น เรตติ้งลดลง หรือมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น จึงทำให้แบงก์ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากมาตรฐานบัญชีปัจจุบัน หรือ IAS39 ที่กำหนดให้ตั้งสำรองในกลุ่ม SM เพียง 2% ของมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยไปเท่านั้น แต่กรณีนี้อาจต้องตั้ง 100% เต็ม ถือเป็นการตั้งสำรองเทียบเท่ากับสินเชื่อที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แล้วเลยด้วยซ้ำ” นางกิตติยากล่าว

นางกิตติยากล่าวอีกว่า ภายใต้เกณฑ์ใหม่ ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้ธนาคารต้องปรับวิธีการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ย (interest income) และการคิดรายได้จากค่าธรรมเนียม (front-end-fee) ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อบ้าน ตามเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ธนาคารต้องเฉลี่ยการรับรู้รายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้เท่ากันทุกปี ตลอดอายุสัญญา แม้บางช่วงธนาคารอาจไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยก็ตาม ซึ่งต่างจากเกณฑ์เดิมที่ธนาคารรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยตามจริง เช่น หากไม่มีการคิดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรกที่ปล่อยสินเชื่อ ธนาคารก็จะไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยเช่นเดียวกับการรับรู้รายได้จากค่าธรรมเนียม เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ทยอยรับรู้รายได้ไปตลอดอายุสัญญาเท่า ๆ กัน ต่างจากอดีตที่เมื่อมีรายได้ค่าฟีเข้ามา จะบันทึกรายได้ค่าฟีทันที

“สิ่งที่กังวล คือ รูปแบบการจ่ายภาษี ที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะการรับรู้รายได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ้าไม่มีรายได้ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษี แต่เกณฑ์ใหม่ต้องให้รับรู้รายได้เลย ดังนั้นการจ่ายภาษีก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องเป็นผู้กำหนดเกณฑ์และให้ความชัดเจนออกมา” นางกิตติยากล่าว


นางกิตติยากล่าวด้วยว่า ก่อนที่มาตรฐานบัญชีใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ทาง ธปท.ได้ให้ธนาคารนำส่งรายงานเบื้องต้นแบบย่อ (snap shot) ในเดือน มิ.ย. 2561 โดยเป็นการรายงานถึงสถานะธนาคาร รวมถึงผลกระทบจาก IFRS9 หลังจากให้ทดลองดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวแล้ว เพื่อให้ ธปท.ทราบข้อมูลรายละเอียดแบบรายธนาคาร และแบบทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละธนาคารมีผลกระทบไม่เหมือนกัน ซึ่งทาง ธปท.จะต้องฟังเสียงตอบรับจากธนาคารพาณิชย์ ก่อนกำหนดออกมาเป็นมาตรฐานต่อไป