เคลมประกันมอ’ไซค์พุ่ง 120% บ.กลางฯจ่ายอ่วม 5 พันล้านรับอุบัติเหตุสูง

บริษัทกลางฯเผยยอดเคลมประกันรถมอเตอร์ไซค์ปี’60 จ่ายเละ 4-5 พันล้าน เหตุยอดเคลมพุ่งปรี๊ด 120% จากปี’59 ชี้รถมอ’ไซค์เกิดอุบัติเหุตสูงถึง 80% ขณะที่ปี’61 เร่งคลอดบริการ PA & Health Gateway ทันใช้ในไตรมาส 1/61

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2560 มีรถจักรยานยนต์(มอเตอร์ไซค์) ทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.กับบริษัทกลางฯ เกือบ 14 ล้านคัน คิดเป็นยอดเบี้ยประกันภัยรวมอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท ขณะที่มีลูกค้าประกัน พ.ร.บ. มีการขอเคลมสินไหมเป็นเม็ดเงินประมาณ 4-5 พันล้านบาท สาเหตุที่มีการเคลมสูงกว่ายอดเบี้ยรับประกัน เนื่องจากอัตราสินไหมทดแทน (ลอสเรโช) พุ่งขึ้นถึง 120% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่อยู่ระดับ 110% หลังจากมีผู้มาใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมของประกัน พ.ร.บ. จำนวน 380,000 ราย ถือว่าสอดคล้องกับสถิติข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนจากรายงานศูนย์รับแจ้งเหตุ

นพดล สันติภากรณ์

“อย่างไรก็ตาม บริษัทกลางฯมีความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR ratio) อยู่ที่ 700% สูงกว่าหลักเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไม่ต่ำกว่า 140% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยในอัตรา 12.25% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีเข้ามา ซึ่งจะช่วยชดเชยภาวะขาดทุนสำหรับการรับประกันรถจักรยานยนต์” นายนพดลกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทกลางฯมีผู้มาทำประกัน พ.ร.บ.เกือบ 14 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 55% ของจำนวนรถจักรยานยนต์ทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 20 ล้านคัน ส่วนอีก 45% ยังเป็นสัดส่วนรถที่ไม่มีการทำประกัน พ.ร.บ.

นายนพดลกล่าวว่า ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเดือน ม.ค.-24 ธ.ค. 60 มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 14,852 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 977,310 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่กว่า 80% เกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อก รวมถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือประกันภัยรถภาคบังคับในการเพิ่มความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากเดิม 50,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 80,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจากเดิม 200,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 300,000 บาท โดยไม่ได้มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ จากปัจจุบันเบี้ยประกันอยู่ที่ 300 บาทต่อปี จึงส่งผลกระทบในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาลอสเรโชปรับสูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทกลางฯได้ขยายขีดความสามารถของระบบ e -Claim ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถเข้ารับการรักษาได้ทันที ซึ่งไม่ต้องสำรองจ่ายในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ โดยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยด้วยการเป็นประตูสู่การให้บริการ “PA & Health Gateway” ให้กับภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้บริการข้อมูลเพื่อการให้บริการที่ดีต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยในส่วนของการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและการประกันสุขภาพได้ ซึ่งนำร่องลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับบริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิตไปแล้ว 5 บริษัท แม้ว่ายังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการแต่ได้มีการทดสอบเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ช่วงไตรมาส 1 ปี 2561

นอกจากนี้ บริษัทกลางฯได้เข้าไปสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการวางมาตรการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ โดยนำข้อมูลบนเว็บไซต์ www.thairsc.com หรือศูนย์รายงานการเกิดอุบัติเหตุทั่วประเทศแบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางบริษัทกลางจะนำข้อมูลดังกล่าวส่งต่อให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน เพื่อจะสามารถแก้ไขจุดที่มีปัญหาให้ดีขึ้นได้ อาทิ พื้นที่จุดเสี่ยง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เป็นต้น รวมถึงได้สนับสนุนในเชิงวิชาการ เช่น การรณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อก เมาไม่ขับและชะลอความเร็วในการขับขี่


“เนื่องจากสถิติการขับขี่ในพื้นที่เขตเมือง เราพบว่า ยังมีรถขับเร็วเกินอัตรากฎหมายกำหนด ซึ่งอัตรากฎหมายกำหนดของไทยถือว่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียน ถ้าเราสร้างการปลูกจิตสำนึกด้านการรณรงค์ลดอุบัติเหตุมากขึ้น เชื่อว่าความสูญเสียก็จะลดน้อยลง” นายนพดลกล่าว