ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดจับตาการประชุม FOMC

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ 33.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 33.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากความล้มเหลวในการผลักดันนโยบายประกันสุขภาพ รวมทั้งยังมีประเด็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการสอบสวน กรณีที่รัสเซียอาจมีความเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว โดยนายโรเบิร์ต มูลเลอร์ อัยการพิเศษอิสระที่กำลังสอบสวนกรณีนี้ กำลังขยายผลการสืบสวนให้รวมถึงธุรกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐลง 0.2% สู่ระดับ 2.1% ในปีนี้ และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าลง 0.4% สู่ระดับ 2.1% เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาและแนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลัง โดยในสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 25-26 ก.ค. และตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐ ในวันที่ 28 ก.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.40-33.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21/7) นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือน มิ.ย. 2560 โดยการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 11.7% คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 2 ปี มูลค่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ขยายตัวดีขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยทั้งปี 2560 ขยายตัวที่ 5% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.74% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 1.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (24/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1684/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 1.1643/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากถ้อยแถลงของนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งสัญญาณเกี่ยวกับการพิจารณาปรับวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1628-1.1684 ดอลลาร์สหรัฐ-ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1650/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (24/7) เปิดตลาดที่ระดับ 110.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 111.53/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้ขึ้น 0.1% สู่ระดับ 1.3% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีการขยายตัวได้ดี โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายส่วนบุคคล การลงทุน และการส่งออก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.67-111.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน (24/7) ตัวเลขยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (24/7) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี (25/7) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (25/7) ดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลีย (25/7) ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของอังกฤษ (26/7) ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (26/7)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.1/+0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ