ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4.0% หลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งสหรัฐและยุโรป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 35.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 35.63/65

โดยค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ประกอบกับสัญญาณล่าสุดจากประธานเฟดที่ยังคงย้ำถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับกรอบคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี’65 มาอยู่ที่ 2.75-3.5% จากเดิมเมื่อเดือน มิ.ย.ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5-4.0% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ในขณะเดียวกัน กกร.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเป็น 5-7% จากเดิม 3-5.5% และมูลค่าส่งออกไทยปีนี้ เป็น 5-7% จากเดิม 3-5% เนื่องจากค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน มิ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.5 จากระดับ 49.3 ในเดือน พ.ค. 65 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยด้านการลงทุน ผลประกอบการ และต้นทุน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยความเชื่อมั่นของเกือบทุกธุรกิจในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตยานยนต์ที่ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นมากจากทุกองค์ประกอบ ตามสถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตยานยนต์ที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.64-35.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แลปิดตลาดที่ระดับ 35.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (4/7) ที่ระดับ 1.0439/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 1.0463/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรแสตท) เปิดเผย ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.4% หลังเผชิญแรงกดดันด้านราคา

และคาดว่าเงินเฟ้อยังคงไต่ระดับสูงสุดต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ทำให้มีแนวโน้มสูงกว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0420-1.0456 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0456/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 134.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 135.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.77-135.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. (5/7), ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน มิ.ย. (6/7), รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. (6/7), ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/7), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐ (8/7), นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือน มิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค.ของยุโรปด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.25/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.4/-0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ