ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปีบัญชี 2561 ปล่อยสินเชื่อสู่ชนบทเพิ่ม 9.3 หมื่นล้านบาท

ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปีบัญชี 2561 ปล่อยสินเชื่อสู่ชนบทเพิ่ม 9.3 หมื่นล้านบาท กางยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ปลุกพลัง SMART FARMER ขับเคลื่อนการผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร อัปเกรดสู่ผู้ประกอบการ SMAEs เน้นสร้างภูมิคุ้มกันและ แก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรอย่างถาวร ผนึกพลังชุมชน – เชื่อมโยงประชารัฐ บูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย “ศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน ปีบัญชี 2561 (1เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย การเป็น ศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท (Rural Universal Bank)

โดยได้ประมาณการผลดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญดังนี้ มีสินทรัพย์รวมที่ 1.74 ล้านล้านบาท สินเชื่อจำนวน 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 93,000 ล้านบาท เงินฝากอยู่ที่ 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,500 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 4,800 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 4.00% คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น 85% กำไรสุทธิ 8,099 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 0.47% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.22%

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรไทย ประกอบด้วย แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิต ตามนโนบายภาคการเกษตร และยกระดับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตร ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจชุมชนเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาทายาทเกษตรกร (Smart Farmer) และโครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีศักยภาพและการบริการจัดการที่ดี และปรับโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมพัฒนา อาชีพและแผนงานสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มพัฒนาบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาและบริหาร ช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาและขยายขอบเขตการบริการผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) โครงการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ให้ครอบคลุมความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มตลอดห่วงโซ่และโครงการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารเงินทุนให้สมดุลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินฝากต้นทุนต่ำ แผนงานบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและพัฒนาระบบ Fund Transfer Pricing แผนงานพัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และแผนงานดูแลเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ประกอบด้วย แผนงานการใช้ Big Data เพื่อบริหารข้อมูลตลอดห่วงโซ่ในหลากหลายมิติ แผนงานส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัยสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทั้งองค์กร และลูกค้า/ชุมชน แผนงานประเมินความสำเร็จด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐและโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานยกระดับศักยภาพบุคลากรให้มีความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญตรงสายงาน แผนงานพัฒนากระบวนการให้เป็นมาตรฐานเพื่อการบริการที่เป็นเลิศและแผนงานส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรมภายในองค์กรตามมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับ แผนงานเสริมสร้างความยั่งยืนเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานการเชื่อมโยงตลาดผลิตภัณฑ์การเกษตรและแผนงานให้ความรู้คู่การพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง และยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข

“ธ.ก.ส. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการดูแลลูกค้า ชุมชนและองค์กรเพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) สอดรับกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืนใหม่ โดยยึดถือแนวทาง 4 เป้าประสงค์ 5 ยุทธศาสตร์ ค่านิยมและความสามารถพิเศษองค์กร ขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ภายใต้กรอบนโยบายการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้” นายอภิรมย์กล่าว