เอาชนะตลาดหุ้นสหรัฐ ด้วยไบโอเทค-ดิจิทัลเฮลท์ฯ

ตลาดหุ้นสหรัฐ
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : สวภพ ยนต์ศรี
บลจ.ทิสโก้

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 นับเป็นครึ่งปีแรกที่ไม่น่าจดจำสำหรับนักลงทุนเท่าใดนัก เมื่อตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกอย่างสหรัฐปรับตัวลดลงแรง โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงถึงราว 21% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีแรกที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970 โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนทราบกันดี คือ ประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ)

หากดูจากสถิติในอดีตนั้น นักลงทุนอาจจะพอรู้สึกมีความหวังได้บ้าง เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีต ในปีที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเกินกว่า 15% พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีสามารถกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง คือ ในปี 1932 (+55.53%) 1939 (+15.01%) 1940 (+6.01%) 1962 (+15.25%) และ 1970 (+26.51%) จากข้อมูลของ DOW JONES MARKET DATA ซึ่งค่าเฉลี่ยของการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ 23.66%

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงเดือนแรกของครึ่งปีหลังอย่างเดือนกรกฎาคม ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมดในช่วง 7 ปีหลังสุด (2015-2021) และในช่วง 10 ปีหลัง (2012-2021) มีเพียงแค่ปี 2014 ปีเดียวเท่านั้นที่ผลตอบแทนในเดือนกรกฎาคมเป็นลบ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงสถิติที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเท่านั้น และหากดูจากข้อมูลตั้งแต่ปี 1957 จะพบว่าในปีที่ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 เป็นลบ มี 50% จากทั้งหมดที่ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 จะเป็นลบเช่นเดียวกันในช่วงครึ่งปีหลัง ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้นมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ต่างจากในอดีต เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2020

สำหรับสิ่งที่จะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มากำหนดความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะต่างไปจากในช่วงครึ่งปีแรก โดยประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น หรือการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed เองก็ดี อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัจจัยกดดันสำคัญเหมือนในช่วงครึ่งปีแรกอีก เนื่องจากความกังวลสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาคือ การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession ซึ่งจะเริ่มเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มที่จะออกมาชะลอลง และราคาน้ำมันที่เคยพุ่งไปแตะระดับกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็เริ่มมีทิศทางที่ปรับลดลง เนื่องจากมุมมองความต้องการใช้น้ำมันในระยะข้างหน้ามีโอกาสที่จะชะลอลงตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น คำถามสำคัญที่นักลงทุนควรหาคำตอบในช่วงครึ่งปีหลังก็คือ จะลงทุนอย่างไรในภาวะ recession ? มากกว่าที่จะหาคำตอบว่าจะลงทุนอย่างไรในภาวะเงินเฟ้อสูง หรือลงทุนอย่างไรในช่วง Fed ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งนั้นเป็นภาพที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี

โดยหากนึกภาพในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจเติบโตได้ชะลอลง หรือเข้าขั้นจนไปถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการใช้จ่ายของคนจะลดลง และกำลังซื้อไม่ได้มีมากเหมือนในช่วงภาวะเศรษฐกิจเติบโต ดังนั้น สิ่งที่คนจะยังจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออกมาใช้จ่ายก็จะเป็นการใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือสุขภาพ หรือ คือในด้าน healthcare นั่นเอง

ดังนั้น คงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดนัก หากผลการดำเนินงานของบริษัทกลุ่ม healthcare จะไม่ได้รับผลกระทบในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การหาโอกาสลงทุนในกลุ่ม healthcare จึงถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการลงทุนช่วงครึ่งหลังของปี ที่การเกิด recession ดูเหมือนจะใกล้เข้ามาทุกขณะ

และนอกเหนือจากจะมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่ม healthcare แล้ว การเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มย่อยของ healthcare ที่น่าจะมีโอกาสในการเติบโตได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่ม biotechnology ซึ่งคือการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ในการคิดค้นวัคซีน หรือยารักษาโรคร้ายแรงและหายาก และกลุ่ม digital healthcare ซึ่งเป็นการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการคิดค้นอุปกรณ์และแนวทางต่าง ๆ ในการรักษาโรคและดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มทางรอดให้กับพอร์ตการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี

และหากประเมินโอกาสเติบโตของกลุ่ม healthcare ในระยะยาวแล้ว หากมองข้ามสภาวะความผันผวนของตลาดในระยะสั้นไป ก็จะยิ่งเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่สูง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวและเกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามรอบของวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่จะอยู่กับเราในระยะยาวก็คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนมีอายุยืนขึ้น และการรักษาสุขภาพของคนที่จะยิ่งมีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การลงทุนในกลุ่ม healthcare จึงถือว่าสามารถตอบโจทย์การลงทุนได้ทั้งในภาพระยะสั้นและระยะยาว