ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565
ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/7) ที่ระดับ 36.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/7) ที่ระดับ 36.11/13 บาท ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของเงินดอลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัยจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน โดยดัชนีดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.95% สู่ระดับ 108.02 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ในขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CMB Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 4.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 95.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย.ในวันพุธนี้ (13/7) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8.6% ของเดือน พ.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.22-36.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (12/7) ที่ระดับ 1.0015/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/7) ที่ระดับ 1.0105/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 2002 จากเหตุความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของยุโรป ประกอบกับปัญหาวิกฤตพลังงาน เนื่องจากรัสเซียประกาศยุติการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่ง Nord Stream 1 โดยบริษัท Nord Stream AG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่ง Nord Stream 1 ยืนยันว่าทางบริษัทได้ปิดท่อส่งดังกล่าวเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติก เพื่อทำการซ่อมบำรุงจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.00020-1.0054 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0002/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/7) ที่ระดับ 137.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/7) ที่ระดับ 137.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผย เงินเฟ้อจากราคาขายส่งในญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 9.2% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากราคานำเข้าพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนที่รุนแรง สืบเนื่องมาจากส่วนต่างทางนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางสหรัฐ ในขณะที่นาฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม หากจำเป็นต้องทำเพื่อคอยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.03-137.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน มิ.ย.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NPIB), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing) เดือน ก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.25/-5.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.60/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ