สแกนงบแบงกปีจอโตเด้ง14% โบรกชี้ศก.ดันสินเชื่อพุ่งสวนทางค่าฟีวูบ

เปิดโผหุ้นแบงก์กำไรอู้ฟู่ “TMB-BBL-KTB” เอเซียพลัสชี้ไตรมาส 4/60 แบงก์ 10 แห่ง โกยกำไร 4.85 หมื่นล้านบาท โตแผ่วจาก Q3 ชี้ภาระตั้งสำรองลดฮวบ คาดทั้งปีླྀ กำไรรวมหด 4.2% เหลือ 1.9 แสนล้านบาท เหตุกลางปีแบกหนี้เสียอ่วม ส่องปีนี้โตเด้ง 14% กำไรทะลุ 2.2 แสนล้าน ขานรับเศรษฐกิจสดใส ดันสินเชื่อโต 6% แต่รายได้ค่าฟีวูบ 2 นายแบงก์ ทำใจบริการพร้อมเพย์-QR Code ฉุดค่าฟีวูบ แถมมีต้นทุนลงทุนไอที

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการวิเคราะห์ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) 10 แห่ง สำหรับงวดไตรมาส (Q) 4/2560 คาดว่ากำไรรวมอยู่ที่ 48,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.4% จากไตรมาส 3/2560 ที่ทำได้ 47,409 ล้านบาท แต่จะลดลงราว 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 51,026 ล้านบาท

โดยสาเหตุที่ Q4 กำไรของกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้นจาก Q 3/2560 เนื่องจากภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของแต่ละแบงก์ที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งจะช่วยหักล้างกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่มักสูงขึ้นในงวดไตรมาสสุดท้ายของทุกปี ทำให้กำไรในงวดสุดท้ายปรับเพิ่มขึ้น

“ประเมินว่างวดไตรมาส 4/2560 แบงก์ที่มีกำไรมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ธนาคารทหารไทย (TMB) กำไรเพิ่มขึ้น 9.7% จากไตรมาส 3/2560 รองลงมาคือ BBL กำไรเพิ่มขึ้น 8.8% และธนาคารกรุงไทย (KTB) +6.8%”

นางอุษณีย์ยังได้คาดการณ์กำไรทั้งปี 2560 ของกลุ่มแบงก์นี้ จะอยู่ที่ 193,937 ล้านบาท ซึ่งจะลดลงราว 4.2% จากปี 2559 ที่ทำได้ 200,776 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากปี 2560 มีการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากส่วนแนวโน้มปี 2561 คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ จะเติบโต 14.4% หรือมีกำไรรวม 221,920 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมากขึ้น จะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ทยอยฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยคาดสินเชื่อสุทธิจะเติบโตราว 6.4% จากปีก่อนหน้า

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) คาดว่าจะเห็นการเติบโตแบบตัวเลขสองหลัก (10% ขึ้นไป) คงเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะปัจจุบันแต่ละแบงก์แข่งกันให้บริการสูง และธุรกรรมต่าง ๆ ก็เริ่มเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่งผลให้ค่าฟีในปีนี้จะเติบโตได้ราว 7.6% จากปีก่อน

สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ถึงแม้ว่าจะเห็นค่าใช้จ่ายจากภาระการลงทุนด้านเทคโนโลยี (IT) เพื่อรองรับบริการดิจิทัลแบงกิ้ง แต่ผลกระทบดังกล่าวจะถูกชดเชยจากการเติบโตฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่เริ่มทรงตัว หลังจากหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่วนใหญ่ถูกปรับโครงสร้างไปแล้ว จึงคาดว่าจะหนุนให้ NPL ทั้งระบบลดลงเหลือระดับ 3% ของสินเชื่อรวม จากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 3.20% และช่วยลดแรงกดดันจากภาระการตั้งสำรองหนี้ฯอีกด้วย

สำหรับแบงก์ที่คาดว่ากำไรจะเติบโตโดดเด่น (Top picks)ในปีนี้ ได้แก่ KBANK, TMB และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) โดย KBANK คาดว่ากำไรสุทธิจะพลิกกลับมาโตสูงถึง 23.1% จากปีก่อน เพราะสินเชื่อรายใหญ่และกลุ่ม SME คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว และการตั้งสำรองหนี้ฯที่จะลดลง ส่วน TMB คาดกำไรสุทธิเติบโต 21.5% โดยได้แรงหนุนหลัก ๆ จากสินเชื่อกลุ่ม SME และรายย่อย และ KKP ที่คาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะพลิกกลับมาเติบโตจากที่ติดลบ รวมถึงอานิสงส์รายได้ค่าธรรมเนียม(ค่าฟี)จากธุรกรรมด้านที่ปรึกษาการเงิน (FA) ของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ที่คาดจะบันทึกเข้ามาในปีนี้

ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2560 กำไรสุทธิของธนาคารน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 2559 ที่อยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้จากค่าฟีที่ลดลงโดยเฉพาะส่วนของรายได้ที่มาจากการขายประกัน การสนับสนุนของภาครัฐในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ และคิวอาร์โค๊ด

ส่วนปี 2561 ยอมรับว่ากำไรจะได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าฟีลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีมาตรการควบคุมการคิดค่าฟีการขายประกันผ่านข่องทางต่าง ๆ การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 แต่ธนาคารจะพยายามรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ให้ได้

“ปีนี้การทำธุรกิจแบงก์จะยากขึ้น ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น การหารายได้ก็ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มาจากแบงก์เอสชัวรันส์ และค่าฟีการโอนต่าง ๆ ตอนนี้ก็ต้องเน้นคุยกับพาร์ตเนอร์ คิดโปรดักต์เงินฝากที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อเวลาไปปล่อยกู้จะทำให้มีส่วนต่างมีมากขึ้น” นางสาวขัตติยากล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายผลดำเนินงานในปี 2561 การเติบโตของสินเชื่อ 5-7% มีอัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) 3.2-3.4% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio (Gross)) 3.3-3.4% ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย คงอยู่ในระดับทรงตัว

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า คาดการณ์ผลดำเนินงานในปีนี้ทั้งแง่รายได้และกำไรจะออกมาใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีรายได้ราว 1.64 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.76 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันกลยุทธ์ของธนาคารในปัจจุบันไม่ได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อที่เติบโตอย่างมาก แต่หันมาเน้นดูแลด้านคุณภาพหนี้ของลูกค้ามากขึ้น

“ตอนนี้ SCB ได้ลงทุนเกี่ยวกับไอทีเพื่อเสริมการบริการต่าง ๆ เข้ามา ทำให้มีต้นทุนจากการลงทุนในส่วนนี้ แต่ที่เราทำไปเพราะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าที่มีแพลตฟอร์มของการบริการรองรับ เพื่อให้ลูกค้าอยากใช้บริการเรามากขึ้น ซึ่งเป็นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากที่เราเน้นบริการที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า” นายอาทิตย์กล่าว