สภาพัฒน์ปักหมุดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประเทศ

เศรษฐกิจไทย

สภาพัฒน์ปักหมุดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 13 หนุนเพิ่มรายได้กระจายทุกกลุ่ม ชี้โครงสร้างเดิมเศรษฐกิจไทยโตได้สูงสุดเพียง 4.5%

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปเพียงรอบเดียวนั่นก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) เป็นการเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ประเทศเดินหน้าได้ และช่วงที่ผ่านมามีภาคการท่องเที่ยวใหญ่มาก สร้างรายได้ให้กับประเทศ 17-20%

อย่างไรก็ดี หากยังเดินด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม ประเทศไทยจะโตได้ประมาณ 3.5% หรือดีที่สุดคือ 4.5% เนื่องจากไทยมีรูปแบบการผลิต การบริการแบบเดิม ซึ่งประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ และสามารถผลิตสินค้าเหมือนที่ไทยทำได้ ฉะนั้น ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้ สร้างมูลค่าได้มากขึ้น กระจายประโยนช์ในกลุ่มคนต่าง ๆ ได้มากขึ้น และดูแลตัวเองได้มากขึ้น

“เทรนด์ในอนาคตจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ดิจิทัลดิสรัปชั่นและการเปลี่ยนแปลงการบริโภคต่าง ๆ ซึ่งนอกเหนือจากคุณภาพยังต้องดูในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยอนาคตจะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ฉะนั้น ต้องเตรียมตัวในระบบเศรษฐกิจที่จะเดินไปสู่จุดนั้น เพราะโควิดที่เกิดขึ้นเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ทำให้เห็นว่าไทยมีอะไรที่จะต้องปรับบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนลำบาก แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้การใช้ชีวิตของคนเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น ดิจิทัลดิสรัปชั่นก็จะมาเร็วขึ้น”

ทั้งนี้ จะเห็นว่าคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก และในอนาคตจะเห็นว่ามีปัญหาอยู่มากทั้งคุณภาพแรงงานและคุณภาพการศึกษา รวมทั้งวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมไทยอีกรอบหนึ่งและทั่วโลกด้วย จึงเห็นชัดเจนว่าในอนาคตไทยจะต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เพราะโลกในอนาคตจะเป็นโลกที่แบ่งขั้วอำนาจกันมากขึ้น ซึ่งจะกระทบการเดินหน้าของประเทศไทย หากวางไม่ดีจะมีปัญหาในอนาคต

“พอเกิดปัญหารัสเซีย-ยูเครน เรามีปัญหาเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะเรานำเข้ามาไม่ได้ เรามีปัญหาปุ๋ยเคมี เพราะเราผลิตไม่ได้ แต่มีปุ๋ยอินทรีย์ที่เราสามารถผลิตได้ ส่วนนี้เราจึงมีทั้งวิกฤตและโอกาสที่จะปรับตัว ฉะนั้น จากส่วนนี้ในอนาคตเราจะเดินไปอย่างไรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เราทำไว้ อยู่ระหว่างนำเสนอสภาเพื่อทราบ เราจึงพยายามทำให้ประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น เกิดการกระจายโอกาสในการพัฒนาไปสู่กลุ่มคนอื่น ๆ มากขึ้น”