ลงทุนอย่างไรเมื่อตลาด ผ่านจุดสูงสุดตลอดกาล

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บล.ไทยพาณิชย์

เริ่มปีใหม่ 2561 กันมาด้วยการซื้อขายวันแรกของปีที่ดันดัชนี SET Index ปิดบวกขึ้นเกือบ 25 จุด อยู่ที่ระดับ 1,778 ซึ่งเป็นการทำลายสถิติราคาปิดสูงสุดตลอดกาลของตลาดหุ้นไทย ที่ทำไว้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว (สองรอบนักษัตร ปีจอ พอดี) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นการซื้อขายวันแรกของปีนั้นเช่นกัน ที่ระดับ 1753.73 จุด ส่วนสถิติ intraday สูงสุดตลอดกาลของ SET index ไว้ที่ 1789.16 จุดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันก็คงจะถูกทำลายลงได้ไม่ยาก

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้คือ 1.ความผันผวนสูงกว่าปีก่อน ๆ อันเนื่องมาจากระดับ PE ratio ที่ค่อนข้างสูง หรืออาจเรียกว่าค่อนข้างแพง และ 2.ผลตอบแทนรวมตลาดขาขึ้นอาจไม่มากนัก โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ให้เป้าหมาย SET Index ปีนี้ไว้ที่ราว 1800-1900 ซึ่งหากคิดเป็นกำไรจากปลายปีที่ผ่านมา ก็อยู่ที่ราว 3-8% เท่านั้น

ซึ่งหากคิดในแง่ของความเสี่ยง ก็นับว่าเป็นปีที่เล่นไม่ง่าย เพราะเรากำลังลงทุนเพื่อจะเอาผลตอบแทนราว 5-10% (รวมปันผล 2-3%) ในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงอย่างตลาดหุ้น ซึ่งเหลือแรงขับเคลื่อนหลักจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) เท่านั้น เพราะจะมาหวังให้ตัวคูณ (หรือ PE ratio) ปรับตัวสูงขึ้นไปจากจุดนี้ก็คงขึ้นได้ไม่มาก

กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างใกล้ชิด สำหรับปีที่มีผลตอบแทนคาดหวังไม่สูงแต่มีความผันผวนสูงแบบปีนี้ กลยุทธ์ที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งที่มักมีประสิทธิภาพดีในสภาวะแบบนี้ ก็คือการทำ Dollar Cost Average (DCA) หรือการซื้อแบบเป็นงวด ๆ เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน ด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกงวด (อาจเลือกหุ้นพื้นฐานดีจำนวนหนึ่งหรืออาจซื้อกองทุนรวมก็ได้) โดยการทยอยซื้อเป็นงวด ๆ ยิ่งตลาดมีความผันผวนสูงการทำ DCA จะทำให้เราจะมีต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำ เพราะการซื้อด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมทุกงวด ในวันที่ราคาปรับตัวลงเราจะได้จำนวนหุ้นมาก ส่วนวันที่ราคาขึ้นสูงเราจะได้จำนวนหุ้นน้อย พอเฉลี่ย ๆ แล้วทุนจะออกมาต่ำ สามารถสร้างประโยชน์จากความผันผวนได้

ส่วนผู้ที่พอมีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด ปีนี้ต้องเน้นกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมหรือ sector rotation จากกลุ่มที่ปรับขึ้นนำโด่ง (แพง) ไปยังกลุ่มที่ยังล้าหลังอยู่ (ถูกกว่า) ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ในภาวะที่ตลาดโดยรวมปรับขึ้นไม่มากนัก

โดยอาจเลือกหุ้นในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จาก Theme การลงทุนหลัก ๆ ในปีนี้ ซึ่งมีปัจจัยหนุนได้แก่ 1.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (เช่นน้ำมัน) ปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นด้วย 2.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ระยะยาว อันเนื่องมาจาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย (คาดว่า 3 ครั้งในปีนี้) และลดการซื้อพันธบัตรลง ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐ ปรับลดภาษีก็ส่งผลให้ต้องกู้เงินมากขึ้น (หรือก็คือการออกพันธบัตรเยอะขึ้น ในภาวะที่คนซื้อน้อยลง ราคาน่าจะลด หรือก็คือ อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น) 3.วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ของไทยจากการที่อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น (จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม) และการลงทุนโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 4.รัฐบาลน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่ม อาจเน้นระดับฐานรากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ตาม theme ดังกล่าวได้แก่ 1.กลุ่มพลังงาน (เลือกลงทุนตามจังหวะราคาน้ำมัน) 2.กลุ่มธนาคารและประกันชีวิต (ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น) 3.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นรับเหมา วัสดุก่อสร้าง วางระบบโครงข่ายโทรคมนาคม (EEC theme) 4.กลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างจังหวัดสูง

ทั้งนี้ให้ระวังความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ เช่น ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศ (เกาหลีเหนือ) อาจโผล่มาเขย่าตลาดได้เรื่อย ๆ ส่วนการลดสภาพคล่องโดยธนาคารกลาง (สหรัฐ และยุโรป) อาจกระทบตลาดหุ้นโดยเฉพาะเม็ดเงินที่มีจากการทำ carry trade (กู้เงินจากประเทศดอกเบี้ยต่ำมาลงทุน) อาจไหลออกในภาวะดอกเบี้ยขึ้น และอย่าลืมตามข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลี (4 มี.ค. 2561) ที่ล่าสุดผล poll ยังไม่มีใครชนะเด็ดขาด และอาจมาพร้อมกับกระแสต่อต้านยุโรปที่อาจกลับมาอีกครั้ง