ธพว.ทุ่ม “คอร์แบงกิ้ง” 800 ล้าน เดินหน้าเปิดบริการชำระเงินออนไลน์

เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งงบฯ 800 ล้านบาท เตรียมจ้างที่ปรึกษาจัดซื้อระบบคอร์แบงกิ้ง เดินหน้าพัฒนาระบบชำระเงิน ระบุครึ่งปีหลังเริ่มใช้ระบบชำระเงินออนไลน์เชื่อมโยงลูกค้า 5 แบงก์ใหญ่ พร้อมตั้งเป้านำระบบขอสินเชื่อออนไลน์มาใช้ปลายปีนี้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารมีแผนการลงทุนระบบคอร์แบงกิ้ง (Core Business Processing System) ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2560-2562) โดยจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมมีแผนจะใช้ระบบร่วมกับธนาคารออมสิน แต่เนื่องจากมีปัญหาติดขัดบางประการ จึงใช้วิธีการลงทุนเองแทน โดยขณะนี้แผนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้

“นอกจากคอร์แบงกิ้งแล้ว เรายังจะทำระบบที่ไม่ใช่คอร์แบงกิ้งด้วย เช่น ระบบบุคคล การจัดซื้อ การเงิน ระบบงบประมาณ โดยทั้งหมดนี้จะใช้เงินลงทุนราว ๆ 700-800 ล้านบาท เมื่อทำสิ่งเหล่านี้เสร็จก็จะสามารถทำพวกระบบชำระเงิน ระบบการขอสินเชื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้ด้วย” นายมงคลกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2560 นี้ ธนาคารจะทำระบบการชำระเงิน (Payment) ให้ทันสมัย และสะดวกมากขึ้น โดยเริ่มช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเปิดให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังทดสอบระบบอยู่

นายมงคลกล่าวว่า ระบบชำระเงินออนไลน์จะเปิดให้บริการที่เว็บไซต์ของ ธพว. และจะเชื่อมโยงกับลูกค้าของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต เป็นต้น

ซึ่งธนาคารเหล่านี้มีระบบการชำระเงินออนไลน์อยู่แล้ว โดยในกรณีโอนเงินเข้าหลายบัญชีในคราวเดียวกัน จะมีค่าธรรมเนียมโอนเงินแค่ 10 บาทเท่านั้น และถือเป็นการทำรายการเพียงรายเดียว

“ลูกค้า 5 แบงก์ จะสามารถโอนเงินออนไลน์มาชำระเงินให้เราได้ ข้อดีคือ เมื่อก่อนถ้าลูกค้ามี 3 บัญชี จะต้องนำเงินไปเข้าทั้ง 3 บัญชี แต่ระบบนี้จะแยกให้ และเสียค่าธรรมเนียมแค่รายการเดียว 10 บาท จากเดิมต้องเสีย 3 ครั้ง ๆ ละ 15 บาท หรือเลือกว่าจะจ่ายบัญชีไหน แล้วบัญชีไหนไม่จ่ายก็ได้ คือสามารถจัดงวดชำระให้ได้หมด” นายมงคลกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารจะพยายามทำให้การขอกู้เงินในลักษณะที่จะนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนผ่านทางออนไลน์ให้ได้ภายในปี 2560 นี้อีกด้วย

นายมลคล กล่าวด้วยว่า การที่เอสเอ็มอีแบงก์จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตนั้น จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.เงินกองทุน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 12% จึงไม่น่าเป็นห่วง และยังสามารถตีมูลค่าสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานเข้าเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ได้อีกด้วย ส่วนกรณีแพ้คดี FRCD ก็มีการตั้งสำรองไว้ครอบคลุมแล้ว 2.ความมั่นใจว่าจะไม่กลับไปเสียหายอีก และ 3.ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แค่ไหน อย่างกรณีเทคโนโลยีทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่ถือว่าทำได้ตามแผน ทั้งการขยายสินเชื่อใหม่ การควบคุมเอ็นพีแอลสินเชื่อปล่อยใหม่ และการแก้ปัญหาหนี้เสียเดิม อย่างไรก็ดี เนื่องจากทางอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องต้องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่ออีกระยะ จึงยังไม่ได้เสนอ คนร.อนุมัติให้เอสเอ็มอีแบงก์ออกจากแผนฟื้นฟูในครั้งนี้