แก้ปัญหาหวยแพง 8 ปี ขายลอตเตอรี่ทะลุ 100 ล้านใบ คนไทยได้อะไร ?

สลากดิจิทัล คนขายลอตเตอรี่

“หวยแพง” เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งเป็นธงหลักที่ต้องเข้ามาแก้ หลังจากยึดอำนาจเข้ามาเมื่อเดือน พ.ค. 2557 โดยขณะนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีคำสั่งปลดคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดเก่า แล้วตั้งชุดใหม่เข้ามา

จากนั้นก็ประกาศแนวทางการปฏิรูประบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งรื้อโควตา จัดระบบผู้ขายสลากใหม่ ปรับระบบซื้อ-จองล่วงหน้า และเพิ่มรางวัลสลาก เช่น เพิ่มรางวัลเลขหน้า 3 ตัว เป็นต้น

ทยอยพิมพ์เพิ่ม 37 ล้านใบ สู่ 100 ล้านใบ

โดยตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ยังมีการพิมพ์สลากออกขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อ “สร้างสมดุล” ในตลาด และหวังว่าจำนวนสลากที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสลาก จำหน่ายที่ใบละ 80 บาทได้ ไม่เกินราคา

เริ่มจากงวดวันที่ 1 พ.ย.2558 ที่มีการพิมพ์สลาก เพิ่ม 13 ล้านใบ รวมเป็น 50 ล้านใบ จากนั้นในเดือน ม.ค. 2565 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็พิมพ์สลากอีก 10 ล้านใบ นำมาขายผ่านโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้ปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายเพิ่มเป็น 60 ล้านใบต่องวด และทยอยเพิ่มปริมาณสลากเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วงปีงบประมาณ 2559 สำนักงานสลากพิมพ์สลากออกขายเพิ่มเป็นงวดละ 60-65 ล้านใบ, รวมทั้งปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเป็นงวดละ 68-71 ล้านใบ, ปีงบประมาณ 2561 พิมพ์สลากออกขายงวดละ 80-90 ล้านใบ, กระทั่งในปีงบประมาณ 2562 ก็มีพิมพ์สลากออกขายงวดละ 90-100 ล้านใบ
ส่งผลให้ปริมาณสลากเพิ่มขึ้นจาก 37 ล้านใบ มาสู่ 100 ล้านใบในที่สุด

พิมพ์สลากเพิ่ม ครองแชมป์ส่งรายได้เข้ารัฐ

ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง การเพิ่มปริมาณสลากก็ทำให้สำนักงานสลาก กลายเป็น “แชมป์นำส่งรายได้” สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้มากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2558 นำส่งรายได้ 15,433 ล้านบาท ต่อมาปีงบประมาณ 2559 นำส่งรายได้เพิ่มเป็น 25,919 ล้านบาท

จากนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานสลากก็ครองแชมป์การนำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุดมาตลอด โดยปีงบประมาณ 2560 นำส่ง 30,947 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2561 นำส่ง 40,850 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2562 นำส่ง 41,915 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2563 นำส่ง 46,598 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 นำส่ง 51,124 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 นำส่งรายได้เข้ารัฐแล้ว 38,997 ล้านบาท

“สลากดิจิทัล” กระแสนิยมพุ่ง-เขย่าวงการ

ขณะเดียวกัน แม้จะปรับระบบซื้อ-จองล่วงหน้า รวมถึงพิมพ์สลากเพิ่มจนถึง 100 ล้านใบ แต่ก็ยังแก้ปัญหาหวยแพงให้หมดไปไม่ได้ จนล่าสุดสำนักงานสลากฯก็งัดไม้เด็ด “สลากดิจิทัล” ที่ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยออกมาดำเนินการ

เริ่มขายงวดแรก เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ชิมลางที่จำนวน 5.2 ล้านใบต่องวด ปรากฏว่า ได้กระแสตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้สำนักงานสลากฯวางแผนทยอยเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลเป็น 7.1 ล้านใบ เริ่มงวดวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งสลากงวดนี้เริ่มจำหน่ายแล้ว และสลากดิจิทัลก็จำหน่ายได้หมดภายใน 25 ชั่วโมง โดยสำนักงานสลากฯจะขยับเพิ่มเป็น 9.1 ล้านใบ ในงวดวันที่ 16 ส.ค. 2565 ต่อไปอีก พร้อมประกาศเป้าหมายว่า ภายในปีนี้ สลากดิจิทัลจะเพิ่มเป็น 20 ล้านใบต่องวด

นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ สลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การจำหน่ายสลากดิจิทัลที่ผ่านมา มีผลตอบรับเป็นไปด้วยดี โดยประชาชนกว่า 1 ล้านคน สามารถเข้าถึงซื้อสลากตัวเลขที่ต้องการได้ในราคา 80 บาทได้จริง อีกทั้งยังมีความสะดวก ความปลอดภัย เพราะสลากที่ซื้อทุกใบจะมีการบันทึกข้อมูลไว้ในแอปพลิเคชั่น สามารถขึ้นรางวัลได้ทันที ไม่ยุ่งยาก

ส่วนการพิจารณาเพิ่มจำนวนสลากนั้น คณะกรรมการสลากฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยนำผลตอบรับด้านต่าง ๆ มาพิจารณาร่วมกันในทุกมิติ ทั้งฝั่งคนซื้อและคนขาย รวมถึงจะทยอยเพิ่มสลากทีละน้อย 1-2 ล้านใบ ไม่ได้เพิ่มครั้งเดียวเป็นปริมาณมาก เพื่อให้ผู้ค้าสลากระบบเดิมมีเวลาปรับตัวและสามารถวางแผนการจำหน่ายสลากได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญจะต้องรักษาความสมดุลระหว่างผู้ค้าในระบบเก่าและระบบดิจิทัลให้อยู่ร่วมกันได้

ซื้อง่าย = มอมเมา ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาสลากเกินราคาด้วย สลากดิจิทัลในครั้งนี้ ดูจะได้ผลที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนอีกมุมที่ตั้งข้อสังเกตว่า สลากดิจิทัลอาจจะมอมเมา เพราะยอมให้ประชาชนซื้อได้โดยไม่จำกัดจำนวน และทุกคนสามารถเข้าถึงง่าย ด้วยการซื้อผ่านแอป สามารถเลือกตัวเลขได้ง่ายขึ้น จึงอาจจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเสี่ยงโชคมากขึ้น ซึ่งทางสำนักงานสลากฯก็บอกว่า พบพฤติกรรมการซื้อสลากดิจิทัล ที่เป็นบุคคล คนเดียวซื้อ 1,000-3,000 ใบ โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นกลุ่มทุนยี่ปั๊วที่ซื้อไปขายต่อแต่อย่างใด

ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า ในปี 2564 การพนันยอดนิยมของคนไทยยังคงเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน แม้วงเงินหมุนเวียนในตลาดตลอดทั้งปีจะลดลง เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลงดออกรางวัล 3 งวด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่จำนวนนักพนันกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ และพบคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมากถึง 7.024 แสนคน ทั้งที่บนหน้าสลาก ระบุว่า “ไม่ขายไม่ซื้อสลากกับคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี” เพราะเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2562

หวยแบบใหม่ “เลข 3 หลัก” แก้ปัญหาระยะยาว

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯได้วางมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาในระยะยาว คือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเสี่ยงโชคอย่างถูกกฎหมาย โดยที่พระราชบัญญัติสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กําหนดไว้ว่า “การออกประกาศ กําหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทน จําหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

“สำนักงานสลากฯจึงได้กําหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จะรับฟังความคิดในครั้งนี้ คือ สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (Number 3 : N3) และสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (Lottery 6 : L6)”

คงต้องติดตามว่า การแก้ปัญหาหวยแพงของสำนักงานสลากฯระลอกใหม่นี้ จะเป็นมรรคเป็นผลมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ควรต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่า แม้จะมีรายได้เข้ารัฐมากมาย แต่ปริมาณสลากที่พิมพ์เพิ่มมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนมาอยู่ระดับ 100 ล้านใบนั้น สร้างประโยชน์ หรือยิ่งมอมเมาประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สังคมคงต้องช่วยกันหาคำตอบ