ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยเดือนกันยายนในอัตราที่ลดลง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง ด้าน FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคบริการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/8) ที่ระดับ 36.11/3 บาท/ดอลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 36.05/07 บาท ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลัก

ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินอีก 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมปีหน้า

โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน และให้น้ำหนัก 63.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 พฤศจิกายน และให้น้ำหนัก 49.50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคม ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากที่ตัวเลข GDP หดตัวติดต่อกันสองไตรมาส

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้มีการเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสขยายตัว 2.11% ในไตรมาส 3 นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงยืนยันว่าเขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 โดยดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และการจ้างงานหดตัวลงเป็นเดือนที่ 3 และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างดิ่งลง 1.1% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานประจำเดือนกรกฎาคมในวันศุกร์นี้ (5/8) เพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 49.4 ปรับลดลงจาก 50.5 ในเดือน มิ.ย. 65 ตามความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการและคำสั่งซื้อเป็นสำคัญ โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตปรับลดลงจากกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติก ที่ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการปรับลดลงมาก ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันที่ลดลง และกลุ่มผลิตเหล็กที่คำสั่งซื้อลดลงมาก

สำหรับความเชื่อมั่นของภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับ 50 ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความเชื่อมั่นของเกือบทุกหมวดธุรกิจที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ยกเว้นกลุ่มก่อสร้าง สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศในเดือน พ.ค. 65 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.03-36.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (2/8) ที่ระดับ 1.0270/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 1.0260/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตอบรับการคาดการณ์ที่เฟดมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0215-1.0294 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0235/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/8) ที่ระดับ 130.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/8) ที่ระดับ 132.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตอบรับการคาดการณ์ที่เฟดมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.43-131.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางออสเตรีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ค.ของจีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/6.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ