ดอลลาร์อ่อนค่าจากความกังวลจีนอาจยุติซื้อพันธบัตรสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (10/1) ที่ระดับ 32.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากทางการจีนมีการขู่ว่าจะซื้อพันธบัตรสหรัฐน้อยลง เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์คอยกล่าวหาว่าประเทศจีนเป็น Currency Manipulator ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลงเมื่อคืนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวขึ้น โดยแหล่งข่าวระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มมีความน่าดึงดูดลดน้อยลง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบกับความตึงเครียดของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้จีนลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐลง อย่างไรก็ตาม นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า เขาไม่สามารถออกความเห็น หลังมีข่าวว่าจีนอาจยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้แนวทางต่าง ๆ ในการปรับสมดุลของพอร์ตพันธบัตรระหว่างประเทศ นอกจากนี้นายอีแวนส์ยังระบุว่า การที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีลักษณะแบนราบและสร้างความกังวลต่อเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายนั้น เป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากเฟดกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แม้ว่าปัจจัยอื่น ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว

ทั้งนี้เงินดอลลาร์ยังคงได้รับความกดดันจากการที่ทรัมป์ต้องการที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ โดยนายโธมัส เจ. โดโนฮิว ประธานและเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของหอการค้าสหรัฐ เตือนว่า หากคณะบริหารภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ก็ถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง นายโดโนฮิวกล่าวว่า หอการค้าสหรัฐสนับสนุนการปรับปรุงข้อตกลง NAFTA ที่มีมานานถึง 24 ปีให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่กระนั้นการปรับปรุงความทันสมัยก็ไม่ควรปิดกั้นตลาด บั่นทอนการคุ้มครองการลงทุน และจำกัดการค้าด้วยกฎระเบียบที่ล้าหลัง ที่สำคัญ การเติบโตนั้นอาจอ่อนแรงลงได้ ไม่แข็งแกร่งขึ้นและไม่ยั่งยืน หากเราถอนตัวจาก NAFTA

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรับเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งประจำเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.8% โดยสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระดับ 0.7% หลังจากที่ร่วงลง 0.4% ในเดือนตุลาคม หากไม่นับรวมหมวดรถยนต์ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพื้นฐาน ซึ่งใช้ในการคำนวณตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ยอดขายในภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 1.5% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนตุลาคมยอดขายดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผู้ค้าส่งจะใช้เวลา 1.24 เดือนในการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดในสต็อก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2557 โดยลดลงจากระดับ 1.25 เดือนในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.00-32.115 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (11/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.955/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (10/1) ที่ระดับ 1.1939/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากนักลงทุนมีการเทขายดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากความกังวลจากการที่จีนขู่ยุติเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.19301.1970 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1945/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (11/1) เปิดตลาดที่ระดับ 111.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (10/1) ที่ระดับ 111.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนมีการเทขายดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากความกังวลจากการที่จีนขู่ยุติเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 111.33-111.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.58/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (4/1) ตัวเลข PPI (4/1) ตัวเลขยอดค้าปลีก (5/1) และตัวเลขเงินเฟ้อ (5/1)

ADVERTISMENT

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.7/-1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.8/-3.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ