ส่อง 3 เทรนด์ “อีเพย์เมนต์” 2018

ในยุคที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนสู่ “สังคมไร้เงินสด” ดิจิทัลเพย์เมนต์ หรือระบบการชำระเงินออนไลน์ ได้เข้ามาเปลี่ยนกลไกการเงิน และพฤติกรรมผู้บริโภค ทั่วโลกหันมาพกเงินสดน้อยลง โดยที่การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น หรือคิวร์อาร์โค้ด ผ่านมือถือกันมากขึ้น เพราะนอกจากความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนในการจัดการเงินสดต่าง ๆ อีกด้วย

“จีน” ผู้นำโมบายเพย์เมนต์

“Statistas” เว็บไซต์ที่ทำการวิจัยเก็บสถิติต่าง ๆ จากทั่วโลกระบุว่า ในปี 2017 จำนวนผู้ใช้โมบายเพย์เมนต์ทั่วโลกอยู่ที่ราว 450 ล้านคน และคาดว่าในปี 2019 ผู้ใช้โมบายเพย์เมนต์จะเพิ่มถึงราว 1,000 ล้านคน

ตลาดโมบายเพย์เมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ “จีน” ซึ่งในปี 2016 มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจาก 5 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนหันมาใช้ระบบจ่ายเงินผ่านมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งการซื้อสินค้าด้วยเงินสดกลายเป็นเรื่องแปลกในหัวเมืองใหญ่ ๆ ของจีนในปัจจุบัน

เจ้าตลาดโมบายเพย์เมนต์ในจีน คือ “อาลีเพย์” ของ “อาลีบาบา” ยักษ์อีคอมเมิร์ซแห่งแดนมังกร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 53.7% ของตลาด ขณะที่อีก 39.1% เป็นของ “วีแชทเพย์” ในสังกัดเทนเซ็นต์ คู่แข่งด้านเทคโนโลยีของอาลีบาบา นอกจากนี้ สำนักวิจัย “iResearch” ของจีน คาดการณ์ว่า ในปี 2018 มูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านมือถือในจีนจะโดดขึ้นมาอยู่ที่ 26.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

“อินเดีย” ตลาดโตไวสุด

ขณะที่จีนเป็นตลาดโมบายเพย์เมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก “อินเดีย” ก็ขึ้นแท่นประเทศที่ตลาดโมบายเพย์เมนต์มีการเติบโตมากที่สุดในโลก รายงานล่าสุดจาก “eMarketer” ประเมินว่า ในปี 2018 ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในอินเดียราว 30% จะมีการใช้โทรศัพท์มือถือชำระค่าสินค้า ณ จุดขาย (POS) อย่างน้อยใน1 ครั้ง/เดือน

การที่ตลาดอีเพย์เมนต์ของอินเดียมีอัตราเติบโตสูงเช่นนี้ เป็นผลพวงมาจากนโยบายก่อนหน้านี้ของรัฐบาล ที่สั่งยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 และ 1000 รูปีรุ่นเก่า เพื่อกำจัดเงินนอกระบบ ในช่วงเวลานั้นประชาชนที่ไม่มีเงินธนบัตรสำหรับชำระสินค้าและบริการได้หันมาใช้วิธีชำระเงินอื่น ๆ มากขึ้น โดยการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลเพย์เมนต์ ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญสำหรับช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ปัจจุบันผู้นำตลาดโมบายเพย์เมนต์ในอินเดีย คือ “Paytm” ซึ่งพัฒนาและผลักดันการจ่ายเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ให้เป็นระบบชำระเงินหลักในการพัฒนาระบบดิจิทัลเพย์เมนต์ทั้งจีน และอินเดียถือได้ว่าเป็นกำลังขับเคลื่อนตลาดโลกที่สำคัญ ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันได้เกือบ 3 พันล้านคนแต่เชื่อได้ว่าการพัฒนาดิจิทัลเพย์เมนต์ยังไปได้อีกไกล และล้ำเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

อีเพย์เมนต์จีนรุก “ตะวันตก”

รายงานชิ้นหนึ่งของ “ฟอร์บส” ซึ่งเขียนโดยคอลัมนิสต์หญิง”มิเชลล์ อีแวนส์” ได้ระบุถึง 3 เทรนด์ของการชำระเงินออนไลน์ที่น่าจับตาในปี 2018 โดยเทรนด์แรกที่เห็นได้ชัดในปีนี้ คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลต) สัญชาติจีน ทั้ง “อาลีเพย์” และ “วีแชทเพย์” จะขยายไปให้บริการในประเทศฝั่งตะวันตกมากขึ้น เพื่อติดตามนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และกลายเป็นกำลังซื้อหลักของโลก

“ยูโรมอนิเตอร์” คาดการณ์ว่า ชาวจีนจะท่องเที่ยวในต่างแดนมากถึง 225 ล้านทริปภายในปี 2030 มีจำนวนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 7.3% ในทุกปี ระหว่าง 2016-2030

ปัจจุบันอาลีเพย์ได้ให้บริการนอกประเทศจีนใน 27 สกุลเงิน และ 30 ประเทศ โดยเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับผู้ให้บริการอื่น ๆ ในแต่ละประเทศ และล่าสุดร่วมมือกับ Verifone เพื่อให้ชาวจีนสามารถจ่ายค่าแท็กซี่ผ่านมือถือได้ในพื้นที่นอร์ทอเมริกา

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบจ่ายเงินออนไลน์ อย่างเช่นในเว็บไซต์ “อเมซอน” หนึ่งในอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ติดตั้งระบบ AI เพื่อช่วยลูกค้าเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เช่น ติดตั้งแชตบอตในหน้าเว็บไซต์หรือหน้าจ่ายเงิน เพื่อตอบคำถามพื้นฐานแก่ลูกค้า หรือ AI เข้ามาช่วยกรองข้อมูลการสั่งซื้อ การจัดส่ง และกรองข้อมูลผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อลดการฉ้อโกงในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์

จ่ายเงินผ่าน “ระบบเสียง”

เทรนด์สุดท้าย อีแวนส์คาดการณ์ว่า ในปี 2018 จะได้เห็นวิธีการจ่ายเงินออนไลน์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ดิจิทัลเพย์เมนต์จะไม่ได้เกิดแค่ในจอคอมพิวเตอร์หรือจอสมาร์ทโฟนอีกต่อไป อนาคตการจ่ายเงินอาจจะเกิดขึ้นผ่านระบบเสียง ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มในปัจจุบัน และมีผู้เล่นผู้พัฒนาหลายรายทั่วโลก การชำระเงินด้วยเสียงเป็น

รูปแบบการชำระเงินที่ถูกพัฒนาผ่านระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถจดจำเสียงและจังหวะการออกเสียงของผู้ใช้งานได้ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องหยิบมือถือ หรือแท็บเลตออกมาทำธุรกรรมต่ออีกแต่อย่างใด

ปัจจุบันธนาคารบางแห่งในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มผูกระบบจ่ายเงินด้วยเสียงเข้ากับ mobile banking application เช่น “USAA” (United Services Automobile Association) ที่ร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สั่งการด้วยเสียง “Nuance” เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ อีแวนส์ยังเชื่อว่า เครื่องมือการจ่ายเงินในโลกอนาคตที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียงอาจจะเป็นมาในรูปแบบอุปกรณ์ที่เคยเป็นของใช้เบสิกสำหรับชีวิตประจำวัน เช่น นาฬิกาข้อมือ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ลำโพง หรือหูฟัง ก็เป็นได้