แกะรอย “โรบิน หลี่” ซีอีโอ “ไป่ตู้” ลุยแผนพัฒนา AI บุกโลก

AFP PHOTO / FRED DUFOUR

หากพูดถึงยักษ์เทคโนโลยีแดนมังกร แน่นอนว่าคือ กลุ่ม “BAT” (Baidu-Alibaba-Tencent) แม้ที่ผ่านมาชื่อของ “อาลีบาบา” และ”เทนเซ็นต์” อาจเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่ “ไป่ตู้” (Baidu) ก็เป็นเว็บเสิร์ชเอนจิ้นที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากกูเกิล

และวันนี้ไป่ตู้จะกลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ “ประเทศจีน” กุมชัยชนะในศตวรรษที่ 21 ด้วยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งแม้แต่ซีอีโอของ “กูเกิล” ก็เชื่อว่า AI ของจีนอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ภายในหนึ่งทศวรรษ

“โรบิน หลี่” ประธานกรรมการและซีอีโอของ “ไป่ตู้” ขึ้นปกนิตยสารไทม์ฉบับปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ความน่าสนใจหลักอยู่ในบทสัมภาษณ์ที่สะท้อน “วิสัยทัศน์” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตของเขาจากชีวิตที่แสนแร้นแค้นของซีอีโอไป่ตู้ เมื่อครั้งไปเป็นนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิกในสหรัฐ จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจของนายหลี่ จากการที่ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งเคยถามว่า

“คุณมีคอมพิวเตอร์อยู่ที่ประเทศจีนหรือไม่ ?” เขาตอบกลับทันทีว่า “ชีวิตผมลำบากมาก แต่สักวันหนึ่งผมจะแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศจีนมีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่น่าทึ่ง”

วัยเด็กของ “โรบิน หลี่” อยู่ในเมืองซานซี ที่มีกิจกรรมด้านการเพาะปลูกและการทำเหมืองเป็นหลัก และตอนนั้นโรงเรียนมัธยมของเขามีเครื่องคอมพิวเตอร์ Apple II เพียง 5 เครื่อง สำหรับนักเรียนที่มากถึง 1,800 คนดังนั้น ครูผู้สอนจึงจัดลำดับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากเด็กที่มีคะแนนในวิชา “คณิตศาสตร์” ที่ดีที่สุด นายหลี่เป็นหนึ่งในนั้น

AFP PHOTO / FRED DUFOUR

แม้ว่านักวิเคราะห์ยังกังขาเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” ของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในจีน โดยรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการเซ็นเซอร์ที่มีความซับซ้อนสูง ที่เรียกว่า “great firewall” เพื่อใช้ในการกลั่นกรองเนื้อหาและสกัดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น Google, Twitter รวมถึงเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ โดยบรรดาเว็บไซต์ยอดนิยมในโลกถูกรัฐบาลจีนปิดกั้นมากถึง 135 เว็บไซต์

แต่มาตรการสกัดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศ ได้ช่วยให้ไป่ตู้ และยักษ์เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยนายหลี่ยอมรับว่า ธุรกิจจีนสามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของมาตรการไฟร์วอลล์

“ผมได้พิสูจน์แล้วว่าธุรกิจจีนเติบโตได้ดีจากประสบการณ์ของผมเอง ไป่ตู้ไม่เคยกังวลเกี่ยวกับกูเกิลที่เข้ามาในประเทศจีนเป็นครั้งแรกในปี 2005ซึ่งขณะนั้นไป่ตู้มีฐานลูกค้าชาวจีนกว่า 40% จนในที่สุดกูเกิลก็ประกาศถอนตัวออกจากจีนในปี 2010 โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนแฮกข้อมูลในระบบของกูเกิล นับจากวันนั้นทำให้ไป่ตู้สามารถครองตลาดจีนกว่า 75%”

ขณะที่ เส้นทางอนาคตของไป่ตู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการทำงานในอุตสาหกรรมในโลกอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงการใช้เอไอในการปฏิวัติอุตสาหกรรมค้าปลีก

โรบิน หลี่กล่าวว่า “หากไป่ตู้สามารถครอง AI ในโลกได้ ก็ถือว่าเป็นการสร้างข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดให้กับจีนบนเวทีโลกด้วยเช่นกัน”

โดยที่ผ่านมา ไป่ตู้ได้จัดตั้ง “กองทุนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” มูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านหยวน หรือราว 1,520 ล้านดอลลาร์ โดยหลาย ๆ คนเชื่อว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับสหรัฐ

กองทุนนี้ถูกเรียกว่า กองทุนอพอลโล่ (Apollo Fund) สำหรับลงทุนในโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมากกว่า 100 โปรเจ็กต์ทั่วโลกภายใน 3 ปีนี้ พร้อมกันนี้

ไป่ตู้ได้พัฒนา “อพอลโล่” ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซสำหรับยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ไป่ตู้ได้เปิดตัว “อพอลโล่ 2.0” เวอร์ชั่นใหม่ เพื่อความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติอย่างสมบูรณ์และปลอดภัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในงาน “Consumer Electronics Show” ที่เมืองลาสเวกัส

นายหลี่ได้กล่าวอย่างน่าสนใจ ว่า “หากเราเลือกที่จะพัฒนาอุปกรณ์หรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งในโลก อุปกรณ์เหล่านั้นต้องสามารถสื่อสารโต้ตอบกับมนุษย์ได้ โดยใช้ภาษามนุษย์ และนี่คือสิ่งที่ผมมองว่ายิ่งใหญ่ และกำลังจะมีอิทธิพลมากที่สุด”

เรียกว่า AI กำลังเป็นปัจจัยที่สร้างอำนาจให้กับจีนในยุคเทคโนโลยีเป็นใหญ่ โดยที่ “เอริก ชมิดต์” ซีอีโอแห่ง “กูเกิล” กล่าวระหว่างร่วมงานประชุมสุดยอดด้านปัญญาประดิษฐ์และความมั่นคงของโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาว่า “AI ของจีนอาจจะขึ้นแซงสหรัฐได้ภายในหนึ่งทศวรรษ”

แม้แต่ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” แห่งรัสเซีย ก็เอ่ยปากถึงความยิ่งใหญ่ของจีนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในปี 2030 จีนจะกลายเป็นผู้ครอบครองอุตสาหกรรม AI

“ไม่มีใครในประเทศจีนที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI อย่างจริงจัง เท่ากับโรบิน หลี่” ปูตินกล่าว

เพราะไป่ตู้ทุ่มเทอย่างหนักกับ R&D โดยเฉพาะ AI โดยรายได้ของไป่ตู้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 อยู่ที่ราว 9,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่งบฯอาร์แอนด์ดีของบริษัทสูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์