‘มนุษย์ต่างดาว’ ในทรรศนะ ‘สตีเฟน ฮอว์กิ้ง’ ชายผู้ไขความลับแห่งจักรวาล

'มนุษย์ต่างดาว' ในทรรศนะ 'สตีเฟน ฮอว์กิ้ง' ชายผู้ไขความลับแห่งจักรวาล

“สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” นักฟิสิกส์ชื่อดังแห่งยุคและผู้ไขความลับแห่งจักรวาล จากไปอย่างสงบ ในวัย 76 ปีที่บ้านพักของเขาในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันพุธ (14 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ตามแถลงการณ์ของครอบครัว

สตีเฟน ฮอว์กิ้ง เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเป็นที่รู้จักจากการทำนายเชิงทฤษฎีที่ว่าหลุมดำควรปล่อยรังสี ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า รังสีฮอว์กิ้ง และเขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ A Brief History of Time ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดี นอกจากนี้เขายังเป็นที่รู้จักทั้งในแง่วิชาการ และความมีอารมณ์ขันอีกด้วย ขณะที่เขาต้องต่อสู้กับโรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor Neurone Disease-MND ) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาเกือบชั่วชีวิต

เป็นที่น่าสนใจว่า  “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เลื่องชื่อชาวอังกฤษ ถูกสอบถามเรื่อง “สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา” จากต่างดาวอยู่บ่อยครั้ง และแทบทุกครั้ง นอกเหนือจากการแสดงความเห็นในเชิง “เป็นไปได้” ที่จะปรากฏอารยธรรมต่างดาว ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตที่ก้าวหน้ามากพอที่จะท่องไปทั่วจักรวาลแล้ว ฮอว์กิ้งไม่ลืมที่จะแสดงความ “กลัว” ในการเผชิญหน้ากับ “มนุษย์ต่างดาว” เหล่านี้เอาไว้ด้วยทุกครั้งไป

“สถานที่ยอดนิยมของสตีเฟน ฮอว์กิ้ง”

ย้อนกลับไปในการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีแนววิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ให้กับ “คิวริออสซิตีสตรีม” ผู้ให้บริการวิดีโอผ่านเว็บไซต์ www.curiositystream.com ชื่อ “สถานที่ยอดนิยมของสตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ความยาว 26 นาที นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ชื่อว่า ชาญฉลาดที่สุดผู้หนึ่งนับตั้งแต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็มีโอกาสได้สอดแทรกความคิดเห็นเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเอาไว้อีกครั้งด้วยคำเตือนเช่นเคย

ภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว เขียนเรื่องให้ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ขึ้นยานสำรวจอวกาศห้วงลึกชื่อ “เอส.เอส. ฮอว์กิ้ง” เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ 5 จุด ประกอบด้วย การเดินทางไปสังเกตการณ์การเกิด “บิ๊กแบง” ที่เป็นจุดเริ่มต้นกำเนิดจักรวาล, การเดินทางไปเยี่ยมชม “มอนสเตอร์แบล็กโฮล” หลุมดำขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ใจกลางกาแล็กซี ทางช้างเผือก, การเดินทางไปเยือน “กลีเซ 832ซี” ดาวเคราะห์คล้ายโลกนอกระบบสุริยะที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า สามารถเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตได้

หลังจากนั้นก็เดินทางทัวร์ “ดาวเสาร์” ซึ่งอยู่ภายในระบบสุริยะเดียวกับโลกเรา สุดท้ายจึงร่อนลงจอดยัง “ซานตา บาร์บารา” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งฮอว์กิ้งเคยไปใช้ชีวิตอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อได้รับการทาบทามจาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเท็ต) ให้ยกครอบครัวไปทำงานที่นั่น

ขณะเดินทางไปเยี่ยมชมอารยธรรมต่างดาวที่สร้างขึ้นตามจินตนาการของศิลปินด้วยเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจี) บน กลีเซ 832ซี สตีเฟน ฮอว์กิ้ง กล่าวกับผู้ชมว่า วันหนึ่ง เราอาจได้รับสัญญาณจากดาวเคราะห์เหมือนเช่นดาวเคราะห์ดวงนี้

“แต่ถ้าจะตอบกลับสัญญาณดังกล่าว เราควรระมัดระวัง การเผชิญหน้ากับอารยธรรมต่างดาวที่มีความก้าวหน้า อาจลงเอยเหมือนกับการที่ชนพื้นเมืองอเมริกันเผชิญหน้ากับ (คริสโตเฟอร์) โคลัมบัส ผลที่เกิดอาจไม่ดีนัก” ฮอว์กิ้งกล่าว

ความกลัวต่อมนุษย์ต่างดาว

ความกลัวต่อมนุษย์ต่างดาวและอารยธรรมต่างดาว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับฮอว์กิ้ง ในสารคดีทางช่อง ดิสคัฟเวอรี เมื่อปี 2010 สตีเฟน ฮอว์กิ้ง เคยให้เหตุผลแห่งความกลัวเอาไว้อย่างละเอียดว่า ถ้าหากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในต่างดาวมีอยู่จริงในจักรวาลอันไพศาลนี้ มนุษย์ต่างดาวเหล่านั้นอาจ “ไม่เป็นมิตร” อย่างที่มนุษย์บนโลกเราคาดหวังไว้ก็เป็นได้

ฮอว์กิ้งระบุว่า หน่วยสำรวจส่วนหน้าของอารยธรรมต่างดาวอาจตระเวนไปทั่วจักรวาลในยานอวกาศขนาดมหึมา เป้าหมายเพื่อแสวงหาวัสดุที่เป็นประโยชน์ต่ออารยธรรมของตนหลังจากที่บริโภคทรัพยากรธรรมชาติบนดาวของตนเองจนหมดสิ้นแล้ว

“มนุษย์ต่างดาวที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการดังกล่าวนั้นอาจกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนของจักรวาล มองหาดาวเคราะห์สักดวงเพื่อเข้าพิชิตเอาเป็นอาณานิคมของตัวเอง” ฮอว์กิ้งระบุ

“ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า มนุษย์ต่างดาวเหล่านี้อาจเข้าไปฉกฉวยประโยชน์จากดาวเคราะห์ใหม่แต่ละดวงไปเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้างยานอวกาศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเคลื่อนกำลังต่อไป ใครจะไปรู้ว่าขีดจำกัดของพวกนี้อยู่ตรงไหน”

ในตอนหนึ่งของสารคดีชุดดังกล่าว สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ยังเสนอแนะไว้ด้วยว่า สายพันธุ์ทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวเหล่า นี้อาจมีความสามารถในการเก็บเกี่ยวพลังงานจากดาวฤกษ์ทั้งดวงไปเป็นของตัวเองได้

“เพื่อการนี้ พวกนั้นอาจเพียงแค่ติดตั้งกระจกสะท้อนแสงนับล้านชิ้นไว้ในห้วงอวกาศ ล้อมดาวฤกษ์ที่ตกเป็นเป้าหมายไว้ทั้งดวงก่อนที่จะป้อนพลังงานของดวงดาวที่รวบรวมได้ไปเก็บไว้ในจุดเก็บรวบรวมเพียงจุดเดียว”

แนวความคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาวของฮอว์กิ้ง เป็นเพียง 1 ในหลายๆ แนวคิดในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วนักดาราศาสตร์ทั่วไป เชื่อว่า อารยธรรมต่างดาวใดๆ ที่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะเดินทางข้ามอวกาศกว้างใหญ่มายังโลกมนุษย์ได้ ก็ต้องมีความศิวิไลซ์เพียงพอที่จะก้าวข้ามความคิดทำลายล้างเพื่อยึดครองดังกล่าวไปได้แล้วเช่นกัน

 

(เรียบเรียงจาก นสพ.มติชนรายวัน )