เฮ! ประชากร “โลมาอิรวดี” เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ผลสำรวจเผยประชากร “โลมาอิรวดี” สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งเคยพบมากในลุ่มน้ำโขงแถบกัมพูชา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2540

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ) ออกแถลงการณ์ว่า ว่าประชากรโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งเเรก หลังมีการบันทึกไว้เมื่อปี 2540 พบจำนวนโลมาอิรวดีในพื้นที่ประมาณ 200 ตัว แต่ลดลงเหลือเพียง 80 ตัว เมื่อปี 2558 อันเนื่องจากมาจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศ และพฤติกรรมการจับปลาของมนุษย์ในบริเวณนั้น

โดยปัจจุบัน จำนวนโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นจาก 80 ตัวในปี 2558 เป็น 92 ตัว เฉพาะปีนี้มีลูกโลมาเกิดใหม่ 3 ตัว และมีจำนวนโลมาตายลดลง

เจ้าหน้าที่ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟประจำกัมพูชา เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ทุ่มเทเพื่อพยายามอนุรักษ์อย่างหนัก การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เอื้อแก่การเพาะพันธุ์โลมาอิรวดี รวมถึงความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่แจ้งทางการเมื่อพบการลอบล่าโลมาและการใช้อวนลอยผิดกฎหมาย ช่วยให้ประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะนี้เชื่อได้แล้วว่าโลมาน้ำจืดชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์แล้ว เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลายรอบกว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ แสดงความวิตกกังวลว่า ความเสี่ยงการสูญพันธ์ุของโลมาอิรวดี ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบจับสัตว์น้ำ ที่มีการใช้ทั้งระเบิดและกระแสไฟฟ้า หรือเหยื่อมีพิษ การก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว.เพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่สุดของโลมาอิรวดี ซึ่งมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง โลมาน้ำจืด และปลาข่า ในภาษาลาว นอกจากนี้ในอดีตยังสามารถพบได้อีกในเมียนมา อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย