ชีวิตอิสระ “ดิจิทัล โนแมด” เทรนด์อาชีพใหม่ไร้หลักแหล่ง

กำแพงความมั่นคงของอาชีพมนุษย์เงินเดือนถูกพังทลายลงเมื่อผู้คนสามารถทำงานจากที่ไหน เวลาใดก็ได้ เมื่อข้อมูลถูกเชื่อมโยงกันทั่วโลกและสามารถเรียกใช้ได้อย่างทันใจ เพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

มีคำศัพท์ใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนมากขึ้น “ดิจิทัล โนแมด” (digital nomad) ก็เป็นหนึ่งคำที่น่าสนใจสำหรับคนวัยทำงาน ที่ยังคงค้นหาความหมายของความสำเร็จ คำคำนี้ถือเป็นคำอธิบาย เทรนด์พฤติกรรม ในยุคที่อะไร ๆ ก็ต้องโกออนไลน์ ได้เห็นภาพดีทีเดียว

“ดิจิทัล โนแมด” เป็นคำผสมระหว่าง ดิจิทัล และโนแมด ที่แปลว่า “ชนเร่ร่อน” คำคำนี้จึงอธิบายถึงกลุ่มคนที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งของมุมโลก เพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่จะไปไหนก็ได้ ลักษณะการใช้ชีวิตจึงเป็นการทำงานทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์ และเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นลักษณะงานที่ชาวโนแมดจับ จึงมักจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยี เช่นผู้ประกอบการธุรกิจ โค้ดเดอร์ ศิลปินบนโลกออนไลน์ ที่ปรึกษา โค้ช มาร์เก็ตติ้ง ฯลฯ ซึ่งคล่องตัวต่อการเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้บ่อย เพราะคำว่า “อิสระ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวดิจิทัล โนแมด

“ปีเตอร์ เลเวล” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์โนแมดลิสต์ (nomadlist.com) เว็บไซต์รวบรวมเมืองที่เป็นมิตรต่อชาวดิจิทัล โนแมดทั่วโลก เพื่อช่วยให้ชาวโนแมดสามารถตัดสินใจเมืองถัดไปที่จะย้ายไปอยู่ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ชาวโนแมดก็สามารถเข้าไปให้คะแนนเมืองต่าง ๆ ในด้านค่าครองชีพที่เป็นมิตร สปีดอินเทอร์เน็ต ความปลอดภัย ฯลฯ ของเมืองทั่วโลกบนเว็บไซต์ได้เช่นกัน

เลเวลได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่คาดการณ์ว่า ในปี 2035 ทั่วโลกจะมีชาวดิจิทัล โนแมด เพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านคน แม้ว่าตัวเลขจะดูน่าอึ้งไม่น้อย แต่เหตุผลสนับสนุนของเขาก็มีแนวโน้มที่น่าเชื่อถือ เขาบอกว่า

ในยุคที่พ่อ-แม่ของคนวัยทำงานปัจจุบันทำงาน พวกเขาทำงานที่เดิมนานกว่า 20 ปีเป็นอย่างต่ำ แต่คนทำงานยุคใหม่เปลี่ยนงานกันทุก 2-4 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า 1 ใน 2 ของลูกของวัยทำงานรุ่นปัจจุบัน จะทำอาชีพฟรีแลนซ์ หรือทำงานโดยไร้สังกัด ขณะที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตในอีก 20 ปีข้างหน้า น่าจะพัฒนาไปได้ที่ 100 กิกะไบต์ต่อวินาที ที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของชาวดิจิทัล โนแมดมากขึ้น

ขณะที่ฟอร์บสตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเทรนด์ดิจิทัล โนแมด เขียนโดย “เบธ อัลทิงเกอร์” วิทยากรด้านนวัตกรรมและการออกแบบจากฮาร์วาร์ด ระบุว่าประชากรดิจิทัล โนแมด ที่มากสุด คือ “คนวัยสามสิบปี” คิดเป็นสัดส่วน 42% จากทั้งหมด ที่ลาออกจากงานน่าเบื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านการเงิน หรือที่ปรึกษา

วิจัยฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่าชาวโนแมดจะ “ไม่” อพยพไปอาศัยที่ใดก็ได้ แต่จะเลือกที่ที่คุ้มค่าต่อการทำงานหรือทำธุรกิจ และเป็นที่ที่สามารถตอบสนองต่อความอยากผ่อนคลายและความบันเทิงหลังเลิกงานได้เป็นอย่างดี ชาวโนแมดส่วนใหญ่จึงเดินทางระหว่างยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีค่าครองชีพถูกและความบันเทิงที่หาได้ในราคาไม่แพงอยู่เป็นประจำ และจะปักหลักที่ใดที่หนึ่งอย่างน้อย 3 เดือน หรือมากกว่าหนึ่งปี

และในงานวิจัยระบุว่า ชาวดิจิทัล โนแมด กว่า 75% เป็นนายจ้างตัวเองหรือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งริเริ่มธุรกิจจากบ้านเกิดด้วยเงินทุนจำนวนไม่มาก และมีค่าดำเนินธุรกิจราว 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น

จุดหมายปลายทางของโนแมดทั่วโลกที่เป็นที่นิยม ได้แก่ หมู่เกาะคานารี อาณานิคมของสเปน ซึ่งใกล้ยุโรป ที่มีอากาศดีตลอดปี มีโคเวิร์กกิ้งสเปซที่รองรับดิจิทัล โนแมด โดยเฉพาะหลายแห่ง, เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ในยุโรปกลาง เป็นมิตรทั้งด้านราคา และความหย่อนใจจากวิวและสถาปัตยกรรมของเมืองที่สวยงาม

เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ปลายทางท่องเที่ยวริมทะเลสุดบูมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตั้งของ Hubud โคเวิร์กกิ้งสเปซที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นปลายทางสำหรับชาวดิจิทัล โนแมด ทั่วโลกเช่นกันโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต

“รีด ฮอฟฟ์แมน” ผู้ก่อตั้ง LinkedIn เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทำงานมืออาชีพไว้ด้วยกันกว่าร้อยล้านคนทั่วโลก เชื่อว่าเทรนด์ “งานประจำตลอดชีวิตการทำงาน” กำลังจะหมดยุคโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นเทรนด์ทำงานแบบไร้สังกัดแทนที่ ซึ่งสามารถจำกัดความสั้น ๆ ได้ว่า เป็นการทำงานแบบ “ชั่วคราว เป็นระยะ และไม่เป็นทางการ”

เขาเชื่อว่าเป็นเทรนด์ใหม่ที่โลกต้องยอมรับ เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้มากขึ้น แม้ว่าจะมีเสียงบางส่วนไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะมองว่าการทำงานแบบโนแมดที่ประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นคนที่มีสกิลด้านไอทีที่ดี