ด้วยเกียรติแห่ง ‘มิตรและศัตรู’ พิธีปิดพรมแดนสุดตื่นตา “อินเดีย-ปากีสถาน”

(Photo by NARINDER NANU / AFP)

เรื่อง : มาร์

หากพูดถึงประเทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถานคงหนีไม่พ้นข่าวคราวการปะทะกันของทั้งสองชาตินี้อย่างแน่นอน แต่ในอีกมุมของความขัดแย้งที่ด่านพรมแดนของเมืองลาฮอร์ แคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน และ เมืองอัตตริ ประเทศอินเดีย มีพรมแดนชื่อ “Wagah border” หรือที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “กำแพงเบอร์ลิน แห่งชมพูทวีป” ณ เส้นพรมแดนแบ่งแผ่นดินที่เคยเป็นผืนเดียวกัน

(Photo by Arif Ali / AFP)

ในบรรดาด่านระหว่างอินเดีย-ปากีสถานทั้งหมดนั้น ด่าน Wagah border มักจะมีประชานชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารอชมพิธีปิดด่านประจำวันสุดแปลกตาที่คึกคัก และมีสีสันที่สุด โดยเรียกว่า “Wagah Border ceremony” ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1959 จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้เกียรติ ‘มิตรและศัตรู’ ของทั้งสองประเทศไปแล้ว

ด้วยศักดิ์ศรีของทั้งสองชาติที่ต่างก็ถือดีในแสนยานุภาพของตนเอง พิธีการนี้จึงเป็นเหมือนสนามประลองขนาดย่อมที่มีไว้เพื่อประชันลีลาและความสง่างามระหว่างกัน โดยทหารอินเดียะแต่งกายในชุดทหารสีน้ำตาล สวมหมวกทรงคล้ายพัดสีแดง ส่วนทหารปากีสถานจะอยู่ในชุดทหารสีดำ และสวมหมวกทรงคล้ายพัดสีดำ

(Photo by NARINDER NANU / AFP)

ในเขตชายแดนของทั้งสองประเทศนี้จะมีการสร้างอัฒจรรย์เอาไว้เพื่อให้บรรดาผู้มาเข้าชมนั่งเชียร์ประหนึ่งการเชียร์กีฬาเลยก็ว่าได้ เพราะก่อนการเริ่มพิธีจะมีการเปิดเพลงเสียงดังต่างฝ่ายต่างข่มกัน และจากนั้นก็จะตามมาด้วยเสียงเชียร์ดังลั่นจากผู้คนทั้งสองฝั่งสลับไปมา ทางฝั่งอินเดียจะมีประชาชนที่เป็นหญิงสาวถือธงวิ่งเป็นคู่ตรงไปใกล้จุดแบ่งแดนระยะทางราว 200 เมตร นอกจากนั้นทางฝั่งอินเดียจะมีการจับกลุ่มกันเต้นรำไปกับเสียงเพลงผ่านเครื่องเสียงอันเร้าใจ จากนั้นไม่นานก็มีพิธีการสวนสนามและการประชันเกิดขึ้น

(Photo by NARINDER NANU / AFP)
(Photo by Arif Ali / AFP)

การประชันยกที่ 1 คือ การประชันลากเสียงยาว ชาติใดลากเสียงได้ยาวกว่า ชนะ

(Photo by Arif Ali / AFP)

 

การประชันยกที่ 2 คือ การประชันเตะขาสูง ชาติใดเตะขาได้สูงและสวยงามกว่าถือว่า ชนะ

(Photo by Arif Ali / AFP)

การประชันยกที่ 3 คือ การประชันชกหน้าอกท้าทายกันชาติใดแสดงอาการโมโหได้สมจริงกว่า ชนะ

(Photo by NARINDER NANU / AFP)
(Photo by NARINDER NANU / AFP)

ตลอดเวลาของการเผชิญหน้า ต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทางเข้มแข็งหยิ่งผยองเข้าประจัญหน้ากัน ทหารทั้งสองฝ่ายถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีให้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ สุดท้ายของการเผชิญหน้าก็จบลงอย่างงดงามด้วยการเขย่ามือกันอย่างชายชาติทหาร และหันหลังกลับสู่ฝั่งตัวเอง ธงจะถูกเชิญลงเมื่อเวลา 19 นาฬิกาตรง จากนั้นจะถูกพับด้วยลีลาอันหมดจดและเชิญกลับ พร้อมกับประตูที่ถูกปิดลงอย่างรวดเร็ว

(Photo by NARINDER NANU / AFP)
(Photo by Arif Ali / AFP)
(Photo by NARINDER NANU / AFP)
(Photo by NARINDER NANU / AFP)

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด เหนือการขัดแย้ง เหนือการประชันกันต่างๆ นานาแล้ว สิ่งที่ผู้คนจะได้เห็นเสมอในตอนท้ายคือการจับมือกันระหว่างทหารของทั้งสองชาติ ซึ่งสามารถทำให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีว่าการใช้กำลัง คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นการยั่วยุ หรืออะไรก็ตาม แต่การหันหน้าเข้าหากันแล้วจับมือต่างหากที่มีค่ามากกว่า การหันหน้าเข้าหากันแล้วต่างฝ่ายต่างจับอาวุธ