ส่องเทรนด์ “เนื้อสัตว์จากพืช” ยุค “รักสุขภาพ-รักษ์โลก”

กระแสการบริโภคอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยมลพิษ และให้ “สารอาหาร” ครบถ้วน กลายเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพไปพร้อมกับตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

“แพลนต์-เบส มีต” (plant-based meat) หรือเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชสามารถตอบโจทย์การบริโภคดังกล่าวได้ เพราะกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เหล่านี้ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และปัจจุบันตลาดนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้น นอกจากจะมีการวางขายเนื้อสัตว์จากพืชตามซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ปัจจุบันเชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ได้เริ่มนำแพลนต์-เบส มีต มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า อย่างเช่น “เคเอฟซี” ในเมืองแอตแลนตาของสหรัฐ ได้ร่วมมือกับ “บียอนด์ มีต” หนึ่งในผู้ผลิตแพลนต์-เบส มีต รายใหญ่ เปิดตัว “Beyond Fried Chicken” เป็นไก่ทอดที่ผลิตจากพืช 100%

รวมทั้ง “เบเกอร์คิง” ที่ร่วมมือกับ “อิมพอสซิเบิล ฟู้ดส์” ผู้ผลิตแพลนต์-เบส มีต รายใหญ่อีกราย เปิดตัว “Impossible Whopper” เบเกอร์ที่ผลิตจากแพลนต์-เบส มีต ออกมาชิมลางตลาด ขณะที่ “แมคโดนัลด์” ก็ได้ทดลองเปิดตลาดเบเกอร์ใช้เนื้อสัตว์จากพืช ในเยอรมนีด้วยเช่นกัน

นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผลิตภัณฑ์ “แพลนต์-เบส มีต” ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการปลูกชั้นไขมันบนเส้นใยของพืช และใช้อุณหภูมิและความดันอากาศในการสร้างเนื้อเยื่อที่คล้ายเนื้อสัตว์

ตามรายงานวิจัยขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์มีสัดส่วนถึง 14.5% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ทั่วโลกในปี 2013 โดยในสัดส่วนดังกล่าว หลัก ๆ มาจากการทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมถึงของเสียจากการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

นอกจากประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่แล้ว “แพลนต์-เบส มีต” ยังให้รสชาติและผิวสัมผัสคล้าย หรือแทบไม่มีความต่างจากเนื้อสัตว์ ทำให้ตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือกลุ่มมังสวิรัติได้อีกด้วย

แม้จะมีแนวโน้มที่แพลนต์-เบส มีต จะสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดเนื้อสัตว์ได้ เช่นเดียวกับ “น้ำนมพืช” ทั้งจากถั่วเหลืองและอัลมอนด์ ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดน้ำนมของสหรัฐได้อย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 13% ในปัจจุบัน

แต่ “ไบรอัน ฮอลแลนด์” นักวิเคราะห์วิจัยอาวุโสของ D.A. Davidson ชี้ว่า ทั้ง 2 ตลาดยังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนจำเป็นต้องบริโภคน้ำนมพืช เนื่องจากแพ้น้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมสัตว์ แต่ผู้บริโภคแพลนต์-เบส มีต เกิดจากความสมัครใจ

นอกจากนี้ ธุรกิจแพลนต์-เบส มีต ยังต้องเผชิญอุปสรรค อย่างเช่น การใช้คำว่า “มีต” หรือรูปสัตว์บนผลิตภัณฑ์ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 20 รัฐในสหรัฐที่ออกกฎห้ามใช้รูปสัตว์บนผลิตภัณฑ์แล้ว

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมองว่าเทรนด์เนื้อสัตว์จากพืชจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยหุ้นของ “บียอนด์ มีต” เพิ่มขึ้นกว่า 500% หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันราคาอยู่ที่ 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น โดยคาดว่าภายในปี 2028 ตลาดแพลนต์-เบส มีต จะมีส่วนแบ่งในตลาดเนื้อสัตว์มากถึง 31%