ปิดฉากยิ่งใหญ่! “นาซา” ชวนชมวาระสุดท้ายของยาน “แคสซินี” เข้าวงโคจร เตรียมทำลายตนเองแล้ว

AFP PHOTO / Robyn Beck

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กันยายนตามเวลาไทย ทีมตัวแทนคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการภารกิจแคสซินี-ฮอยเกนส์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

นำโดยนายเอิร์ล เมซ ผู้จัดการโครงการ แถลงร่วมกันที่ห้องปฏิบัติการเจ็ตโพรพัลชั่น (เจพีแอล) ในเมืองพาซาเดน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วโลกติดตาม “วาระสุดท้ายอันยิ่งใหญ่” ของยานสำรวจอวกาศแคสซินี ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนกำหนดถูกทำลายเป็นจุณในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายนนี้ ปิดฉากโครงการสำรวจร่วมระหว่างนาซ่ากับองค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ซึ่งประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่เกินความคาดหมายนาน 13 ปีลงในที่สุด

นายเมซกล่าวว่า วาระสุดท้ายของยานสำรวจดาวเสาร์นี้ถูกกำหนดไว้ชัดเจนมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยทีมปฏิบัติภารกิจภาคพื้นดินที่เจพีแอลทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของยานโดยอาศัยเครือข่ายสถานีติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลกที่เรียกว่า “ดีพสเปซเน็ตเวิร์ก” ในการสื่อสารกับแคสซินี ในเดือนเมษายนทีมภารกิจอาศัยแรงโน้มถ่วงของไททัน หนึ่งในดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเสาร์ช่วยเพื่อปรับแต่งเส้นทางโคจรของแคสซินีให้อยู่ในรูปวงกลมให้อยู่ในช่องแคบๆ ที่อยู่ระหว่างชั้นบรรยากาศนอกสุดกับวงแหวนชั้นในสุดของดาวเสาร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ทีมควบคุมก็อาศัยแรงโน้มถ่วงของไททันอีกเช่นกัน ช่วยชะลอความเร็วของแคสซินีลง เพื่อปรับระดับความเร็วให้ลดลงเมื่อต้องโคจรผ่านดาวเสาร์ครั้งถัดไป การชะลอความเร็วลงดังกล่าวส่งผลให้ตัวยานถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ดึงดูดให้ลดระดับต่ำลง และจะถูกดึงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อแคสซินีหมดเชื้อเพลิงโดยไม่หลุดกลับสู่อวกาศอีก

เมื่อถึงเวลา 06.50 น. เช้าวันที่ 13 กันยายน หรือ 20.50 น. ตามเวลาไทยในวันเดียวกัน แคสซินีจะหันเสาอากาศออกไปสู่ด้านตรงกันข้ามจากโลก และจะเริ่มต้นถ่ายภาพระบบดาวเสาร์ชุดสุดท้ายเพิ่มเข้าไปในคลังข้อมูลภาพที่มีอยู่มากกว่า 450,000 ภาพที่ถ่ายไว้แล้วตลอดระยะเวลาปฏิบัติภารกิจที่ผ่านมา ภารกิจถ่ายภาพชุดสุดท้ายดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเวลา 12.58 น. ของวันที่ 14 กันยายน หรือ 02.58 น. ของวันที่ 15 กันยายนตามเวลาไทย

หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น (04.45 น.เวลาไทย) แคสซินีจะถูกสั่งให้เริ่มภารกิจส่งข้อมูลทั้งหมดที่เก็บอยู่ในคลังข้อมูลของยานกลับโลก ซึ่งจะใช้เวลาจนถึง 20.00 น. หรือ 6 ชั่วโมงถัดมา (ตรงกับ 10.00 น. วันที่ 15 กันยายน ตามเวลาไทย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นาซากำหนดจะเผยแพร่ภาพชุดสุดท้ายของแคสซินีสู่สาธารณะ

ที่ 01.37 น. ของวันที่ 14 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น (15.37 น. วันที่ 15 กันยายน ตามเวลาไทย) ทีมภารกิจแคสซินีจะส่งคำสั่งปรับการทำงานของยาน เพื่อให้แคสซินีจัดส่งข้อมูลที่ได้รับกลับโลกทันทีในช่วงของการพุ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ซึ่งแตกต่างออกไปจากการทำงานในภาวะปกติของแคสซินี ที่จะเก็บข้อมูลไว้กับยานก่อน เมื่อถึงกำหนดการส่งข้อมูลกลับโลกที่กำหนดเป็นตารางไว้ตายตัวจึงส่งกลับมา อัตราการส่งข้อมูลทันทีของแคสซินีไม่สูงมากที่จะส่งไฟล์ภาพถ่ายขนาดใหญ่กลับโลกในทันที ดังนั้น ทีมควบคุมจึงกำหนดให้ยานส่งข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ถ่ายภาพและตรวจจับข้อมูลเพียง 6 ตัวจากทั้งหมด 13 ตัวเท่านั้น

ยานแคสซินีจะเริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ในเวลา 04.55 น. ของวันที่ 15 กันยายน (18.55 น. วันเดียวกันตามเวลาไทย) และจะฝ่าบรรยากาศอยู่นานราว 1-2 นาที ก่อนที่ทางทีมภารกิจเชื่อว่ามันจะถูกบรรยากาศดาวเสาร์เสียดสีและทำลายจนหมดสิ้นภายในอีก 1 นาทีหลังจากนั้น

โครงการภารกิจแคสซินี-ฮอยเกนส์ มูลค่า 3,200 ล้านดอลลาร์ ที่ประกอบด้วยยานแคสซินีและยานฮอยเกนส์ แลนเดอร์ ถูกส่งขึ้นจากโลกในเดือนตุลาคม 2540 เดินทางถึงระบบดาวเสาร์ในเดือนกรกฎาคม 2547 จากนั้นไม่นานยานฮอยเกนส์แลนเดอร์ก็แยกตัวออกเพื่อร่อนลงไปสำรวจพื้นผิวไททัน ดาวบริวารของดาวเสาร์ ส่วนแคสซินียังคงโคจรเพื่อสำรวจระบบดาวโดยรอบ รวมถึงวงแหวนและดาวบริวารทั้งหลาย ส่งข้อมูลที่น่าทึ่งและเหลือเชื่อกลับมายังโลกมากมาย

โดยเฉพาะการยืนยันการมีมหาสมุทรที่เป็นของเหลวอยู่ภายใต้ผิวนอกที่เยือกแข็งของเอ็นเซลาดัส ดาวบริวารอีกดวง และสภาวะประหลาดบนพื้นผิวของไททัน รวมถึงการค้นพบ “ฝนจากวงแหวน” ที่ตกสู่ดาวเสาร์ และข้อเท็จจริงที่อัศจรรย์อีกมากมาย และข้อมูลเกี่ยวกับบรรยากาศดาวเสาร์ที่จะเป็นข้อมูลสุดท้ายจากแคสซินีก็เชื่อว่าจะอัศจรรย์ไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทย ชวนร่วมติดตามภารกิจสุดท้ายยานอวกาศแคสซินี จับตานาที “แคสซินีพุ่งชนดาวเสาร์เผาไหม้ตัวเองปิดฉากการเดินทางและการสำรวจดาวเสาร์อันยาวนานกว่า 20 ปี ที่นำมาซึ่งคุณประโยชน์และการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ แก่มวลมนุษยชาติ พร้อมจัด NARIT Facebook live “เกาะติดภารกิจสุดท้าย…ยานแคสซินีพุ่งชนดาวเสาร์” วันที่ 15 ก.ย.นี้ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไปทาง www.facebook.com/NARITPage 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์